ประจวบคีรีขันธ์ – ชาวบ้านรวมตัวกดดันอุตฯ ชี้แจงประทานบัตรกลางสภาฯอบต.เกาะหลัก

24 มิ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก อ.เมืองประจวบฯ แกนนำตัวแทนชาวบ้านหนองไม้แก่น หมู่ 7และหมู่ 6  นำกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100  คน ไปร่วมฟังวาระการประชุมสภา โดยมีการตั้งเต้นบริเวณด้านหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก พร้อมชูป้ายคัดค้านการออกประทานบัตรขอทำเหมืองแร่ในพื้นที่ หมู่ 7 บ้านหน้องไม้แก่น ขณะที่ฝ่ายบริหารมีวาระการประชุมสภาสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี2567  ในหลายญัตติต่อการดำเนินการบริหารงบประมาณท้องถิ่น ขณะที่มีกลุ่มตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือ ขอเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภาในครั้งนี้ เนื่องจากทราบว่าได้เชิญอุตสาหกรรมจังหวัดฯ และป่าไม้ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงและสอบถามแนวทางปฏิบัติทางกฎหมาย กรณีหนังสือจากกลุ่มชาวบ้าน หมู่ 6 และหมู่ 7 ในเรื่องของคำขอประทานบัตร ที่ 1/2566 ของบริษัท เหมืองหิน อธิภัทร จำกัด ต่อประธานสภาเนื่องจากชาวบ้านตั้งข้อสงสัยอาจมีวะระซ่อนเร้นมติเห็นชอบการขอประทานบัตรดังกล่าว

นายกิตติ นามบุญลือ อายุ 45 ปี ตัวแทนชาวบ้านหนองไม้แก่น หมู่ 7 ตำบลเกาะหลัก กล่าวว่า เนื่องจากทราบว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลักจะมีวาระนำเข้าที่ประชุมสอบถามมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบคำขอประทานบัตร ของบริษัท เหมืองหิน อธิภัทร จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรม  ในพื้นที่หมู่ 7 นั้น กลุ่มชาวบ้านและตัวแทนจึงรวมตัวกันทำหนังสือยื่นขอเข้าร่วมประชุมเพื่อคัดค้านขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังมีกระบวนการและขั้นตอนมิชอบที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำและสายน้ำใช้ร่วมกันในหลายชุมชน ชาวบ้านจึงขออนุรักษ์และเนื่องจากเป็นพื้นที่เขาลูกใหม่ที่ยังไม่เคยทำเหมืองแร่มาก่อน

นายเกรียงไกร เรืองทิพย์ ประธานสภาองค์การบริการตำบลเกาะหลักเปิดเผยว่า ระเบียบวาระการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหลัก ในสมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปี 2567 นั้น ซึ่งเป็นการประชุมตามวาระของสภาบริหารในหลายญัตติต่อการบริหารจัดการท้องถิ่นตามปกติ แต่เนื่องจากประธานสภาได้รับหนังสือขอมีส่วนร่วมเข้ารับฟังการประชุมสภาก่อนหน้า จากกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน หมู่ 6 และ หมู่ 7 กรณีมีหนังสือจากประชาชนทั้งสองหมู่สอบถามเรื่องของคำขอประทานบัตร ของบริษัท เหมืองหิน  อธิภัทร จำกัด ตามระเบียบกฎหมาย ทางสภาฯจึงเชิญอุตสาหกรรมและป่าไม้เขต 10 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมชี้แจงและสอบถาม เพื่อตอบข้อสงสัยของชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการตามคำขอ ซึ่งไม่ได้เป็นการเข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นเพื่อเสนอการขอประทานบัตรผ่านสภาตามที่เข้าใจจากตัวแทนชาวบ้านนั้น และหากจะมีการเสนอคำขอประทานบัตรดังกล่าวเข้าญัตติวาระการประชุมสภาในครั้งใด ทาง อบต.เกาะหลัก จะเชิญประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้ารับฟังตามวาระ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและแจ้งจะให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่รับทราบเป็นการต่อไป นายเกรียงไกร ประธานสภาฯกล่าว

ด้านนางสาว สุคนธ์ทิพย์ สินวิวัฒนากูล อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบฯเปิดเผยว่า ในสวนของอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบฯซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรของบริษัทดังกล่าว ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ซึ่งในการขอประทานบัตร ของบริษัท เหมืองหิน อธิภัทร จำกัด  โดยทางอุตสาหกรรมฯได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน ระเบียบกฎหมายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ รวมทั้งตอบข้อกังวนของประชาชนเป็นเอกสารชี้แจงผ่านไปยังที่ประชุมสภาทราบตามที่ประชาชนสงสัยในหลายมิติถึงการดำเนินการตามพรบ.แร่ 60 ไปแล้วนั้น และขอยืนยันว่าการจัดประชุมให้ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่การทำประชาพิจารณ์ แต่เป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามพรบ.แร่ 60 เท่านั้น เนื่องจากพรบ.แร่ให้อำนาจเพียงขอความเห็นพร้อมเปิดเวทีให้บริษัทได้มีโอกาสพูดคุยแสดงความเห็นกับประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการลงมติเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดฯเป็นเพืยงผู้รับปฏิบัติและดำเนินการไปตามขั้นตอบให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีการประชุมเห็นชอบ(ร่าง)แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกกระทรวงการฯสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการที่ดินแห่งชาติ ให้ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมปรับปรุงแผนที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน เหมาะสมกับแร่แต่ละชนิด รวมทั้งให้มีการสำรวจแหล่งแร่ชนิดใหม่ๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มเติม เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนครบถ้วนในการดำเนินนโยบายการทำเหมืองให้ถูกต้อง และให้พิจารณานำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาใช้ประกอบการดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ตามนัยมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ในฉบับต่อไป

: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มาแหล่งข้อมูล
: นัครินทร์/รายงานข่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ