พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ฯ รอง ผบ.ตร. เปิดอบรมการฝึกเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565​ เวลา 13.00 น.​ ที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ แผนกมัธยม​ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. เดินทางไปรับชมการฝึกวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน รับมือเหตุกราดยิง (Active shooter)

โดยมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.การอบรมภาคทฤษฎี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
2.การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ฐาน 

โดยจะแบ่งบุคลากรในการฝึกซ้อม 3 กลุ่ม ซึ่งมีทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรอื่น ๆให้ฝึกซ้อมร่วมกัน โดยจะสลับหมุนเวียนกันไปในแต่ละฐาน ได้แก่

ฐานที่ 1 การหนี ซ่อน สู้ ซึ่งจะมีการสาธิตเหตุการณ์จริงว่าเมื่อมีคนร้ายก่อเหตุยิงกราดจะมีวิธีการในการเอาตัวรอดอย่างไร

ฐานที่ 2 การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อสร้างความรู้เบื้องต้นในการรักษาบาดแผลและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุร้าย เพื่อลดการสูญเสีย

ฐานที่ 3 คือการปฏิบัติเมื่อพบ IED ระเบิด ทำให้รู้ว่าเมื่อพบวัตถุเข้าข่ายที่จะเป็นระเบิดควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มาให้ความรู้เรื่องการรับมือเหตุกราดยิงในสถานศึกษา ซึ่งเราทำเรื่องนี้มานานแล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง พอมีเหตุเกิดที่ จว.หนองบัวลำภู ก็ได้มีการถอดบทเรียนแล้วว่า การลดความสูญเสียได้มากที่สุดคือการให้ความรู้กับเหยื่อ เพราะเหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ถ้าหากเหตุเกิดในโรงเรียนเด็กเล็กต้องทำอย่างไร หากเกิดเหตุในห้างสรรพสินค้าต้องทำอย่างไร ซึ่ง รปภ. ต้องรู้วิธีการรับมือ โดยจะมีการประสานการดำเนินงานกับบริษัท รปภ. ให้มีการฝึกอบรมและออกใบอนุญาตเกี่ยวกับกิจการรักษาความปลอดภัยโดยตำรวจ

ส่วนปัจจัยที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ หรือกราดยิง (Active shooter)
นั้นมี 3 อย่างคือ

1.ตัวคนร้ายเอง
2.สภาพสังคมที่กดดันผู้ก่อเหตุจนเกิดความเครียด
3.เมื่อเกิดความกดดันมากจึงทำให้เกิดความต้องการตอบโต้แบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นได้ 2 ลักษณะ คือ การยิงตัวตาย และการฆาตกรรม แต่ถ้าสังคมกดดันจนตัวผู้ก่อเหตุควบคุมตัวเองไม่ได้ก็จะเลือกเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น โรงเรียนหรือห้างสรรพสินค้าที่ผู้คนไม่ทันระวังตัว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการถอดบทเรียนจากกรณีที่เกิดเหตุจากสหรัฐอเมริกากว่า 280 กรณี นำมาต่อยอดเพื่อให้ความรู้กับประชาชนต่อไป โดยในวันนี้จึงเดินทางมาฝึกซ้อมและให้ความรู้กันที่นี่ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทาง ผกก.สน.ปทุมวัน และ ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ด้วย

ทั้งนี้ การสาธิตในครั้งนี้จะมีการบันทึกภาพและเสียงเพื่อทำเป็นวิดีโอเผยแพร่ โดย ผบ.ตร. และ รมว.ศึกษาธิการ กำลังทำข้อตกลงกันเพื่อที่จะส่งครูฝึกที่เป็นตำรวจและผ่านการฝึกมาแล้วทุก สน. ไปสอนให้กับคุณครูตามโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนทั้งประเทศมี 20,000 กว่าโรงเรียน แต่มีโรงพักแค่เพียง 1,400 กว่าโรงพัก ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าไปฝึกได้ทุกโรงเรียน จึงจะจัดฝึกให้กับครูแล้วให้ครูไปถ่ายทอดกับเด็กนักเรียนต่อไป โดยเน้นความเข้าใจที่ง่ายอย่างเช่น “Run Hide Fight”  คือ “การหลีกเลี่ยง หลบซ่อน การเข้าสู้”

ซึ่งสำหรับการวัดผลไม่สามารถวัดเชิงปริมาณได้ แต่ต้องวัดผลเชิงคุณภาพ นั่นคือความพึงพอใจของประชาชนว่ามีความพึงพอใจหรือไม่ที่ทางตำรวจได้เข้ามาให้ความรู้ตรงนี้  ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันช่วยเฝ้าระวังเพราะ “การลดอาชญากรรมได้ดีที่สุดคือ การมีพี่น้องประชาชนเป็นแนวร่วมของตำรวจ”

ทางด้าน นางพรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผอ.โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ได้ให้อาจารย์ในโรงเรียนให้ข้อมูลกับนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีการอบรมแต่ไม่ได้ตรงกับเหตุการณ์นี้เท่าไหร่ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสซักซ้อมเหตุการณ์กราดยิงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับทราบว่าทางตำรวจ สน.ปทุมวัน จะมีการให้ความรู้โดยตรงในเรื่องนี้ ซึ่งก็ขอชื่นชมทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นการให้ความรู้ที่รวดเร็ว ในการเตรียมความพร้อมเนื่องจากพอมีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้นอาจมีการเลียนแบบ เพราะถ้าไม่มีการให้ความรู้ที่รวดเร็ว และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกก็อาจจะทำให้มีการสูญเสียมากขึ้น และถ้ามองในมุมเด็กๆ ก็จะได้รับความรู้ในเบื้องต้น วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นภาพขั้นตอนที่ชัดเจน เมื่อเห็นแล้วก็จะได้รู้ว่าในอนาคตควรจะเตรียมตัวอย่างไร ส่วนผู้ปกครองก็น่าจะมีความสบายใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่าลูกตนได้รับความรู้แล้ว”

ทางด้าน พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ปทุมวัน กล่าวว่า ในส่วนของตำรวจส่วนหนึ่ง และภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่ง วันนี้อยากจะทำให้ภาคประชาชนแข็งแรง คือต้องรู้วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อนที่เหตุจะไปถึงเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่จะมาถึง ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่นานแต่สำคัญที่สุด ซึ่งถ้าสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ และสามารถช่วยเหลือกันเองได้ก่อนก็จะช่วยลดการสูญเสียได้มากขึ้น ซึ่งนอกจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ ยังได้มีการสาธิตอีกหลายที่ อย่างที่ห้างสยามพารากอน ซึ่งจะเป็นแม่แบบของห้างใหญ่เมื่อเกิดเหตุว่าต้องทำอย่างไร 

Credit : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ