วันที่ 7 สิงหาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) นายพีรพงศ์ รำพึงจิตต์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 6 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ Superintendent Michael CYMBALISTA (ไมเคิล ซิมบาลิสต้า) Counsellor – Mekong Region Australian Embassy, Bangkok ร่วมแถลงข่าว “ศุลกากรเร่งป้องกันและปราบปรามจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและของที่เป็นอันตรายต่อสังคมมูลค่ากว่า 46.71 ล้านบาท”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีความกังวลมาตั้งแต่ต้นกับการเข้ามาของสินค้าราคาต่ำ และสินค้าไม่ได้คุณภาพ จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการหามาตรการเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีราคาต่อหีบห่อ ต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ดำเนินมาตรการชั่วคราวระหว่างรอกรมสรรพากรแก้กฎหมาย เพื่อดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีราคาต่อหีบห่อน้อยกว่า 1,500 บาท โดยมีผลเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าที่ตั้งอยู่ในประเทศ นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขัน กับการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
โดยที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อสังคม เช่น ยาเสพติด บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงบูรณาการกับหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) โดยสั่งการให้บูรณาการด้านการข่าวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
กรมศุลกากรได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีผลงานการป้องกันและปราบปรามสินค้าเถื่อน ผิดกฎหมายที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ด้านการปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและสินค้าอื่น ๆ
1.1สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจค้นโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ผลการตรวจค้นพบสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์แต่งรถยนต์ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และไม่พบเอกสารหลักฐานผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 14,944 ชิ้น มูลค่ากว่า 1.8 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
และในวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ศุลกากรกองสืบสวนและปราบปรามได้รับการข่าวว่าจะมีการขนสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) บริเวณถนนบางนาตราด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จึงได้เฝ้าระวังจนกระทั่งพบรถกระบะตู้ทึบต้องสงสัยจำนวน 2 คัน และได้ทำการตรวจค้น พบสินค้าประเภทหลอดไฟแอลอีดี หม้อไฟฟ้าอเนกประสงค์ และพัดลมตั้งพื้น จำนวน 1,260 ชิ้น มูลค่า 1 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ทำการอายัดสินค้า ณ ท่า/ที่ที่นำเข้าเพื่อรอผลการพิจารณาอนุญาตจาก สมอ. เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสินค้าที่อายัดไว้นั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ สมอ. กำหนด ก็จะสั่งให้ทำการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางตามแนวทางที่ สมอ. กำหนดต่อไป
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสิ้น 25 คดี จำนวน 231,971 ชิ้น
และ 50,578 กิโลกรัม มูลค่ารวม 66.55 ล้านบาท
1.2เศษพลาสติก
เมื่อวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม
ได้ทำการตรวจค้นรถบรรทุกพ่วง จำนวน 3 คัน บริเวณพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พบเศษพลาสติกจำนวน 60,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดง จึงได้ทำการยึดของดังกล่าว
เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าเศษพลาสติก ทั้งสิ้น 3 คดี ปริมาณ 97,136 กิโลกรัม มูลค่ารวม 1.65 ล้านบาท
2. ด้านการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อสังคมมีผลการดำเนินการ ดังนี้
2.1ยาเสพติด
กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ หน่วยปฏิบัติการ (Airport Interdiction TaskForce : AITF) มาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจพบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็น “Chinese Character Hanging” ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จากข้อมูลการข่าวพบว่า มีความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร เมื่อเปิดตรวจพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (HEROIN) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น ซุกซ่อนอยู่ภายในป้ายมงคลภาษาจีนแบบแขวน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1,125 กรัม มูลค่า 3,375,000 บาท การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ AITF ได้ร่วมกันตรวจสอบสินค้าเร่งด่วนขาเข้า นำเข้าทางคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้นทางประเทศ CHILE สำแดงชนิดสินค้าเป็น “BASKETBALL HOOPS” ผลการตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน (Cocaine) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 990 กรัม มูลค่า 3 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ภายในห่วงบาสเกตบอล
หน่วยปฏิบัติการ AITF จึงดำเนินการขออนุมัติขอครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม (Control Delivery: CD) เพื่อขยายผลไปยังผู้กระทำผิด จนสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวไทย ซึ่งเป็นผู้มารับของกลางดังกล่าว
ซึ่งจากการสอบปากคำเบื้องต้น จึงดำเนินการควบคุมตัวเพื่อสืบสวนขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องต่อไป การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานลักลอบนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท 2 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ตามมาตรา 242 ,244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 5 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 119 คดี มูลค่ารวม 955 ล้านบาท
2.2 บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
ในระหว่างวันที่ 1 – 12 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากสงสัยว่ามีของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,802,800 มวน มูลค่า 9,014,000 บาท และบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 10,245 ชิ้น มูลค่า 4,098,000 บาท รวมมูลค่า 13,112,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ได้เข้าตรวจค้นโกดัง ไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 1 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,728,000 มวน รวมมูลค่า 8,640,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศและไม่ปรากฏหลักฐานในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการยึดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 245 246 247 ประกอบกับมาตรา 166 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมบุหรี่ ทั้งสิ้น 1,570 คดี จำนวน 29.6 ล้านมวน มูลค่ารวม 168.40 ล้านบาท
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 2 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ ทั้งสิ้น 318 คดี จำนวน 1.06 ล้านชิ้น มูลค่ารวม 85.9 ล้านบาท
2.3ยาเสตียรอยด์สำหรับฉีดและรับประทานสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ทำการจับกุมสินค้านำเข้า ประเทศกำเนิด KOREA ต้นทางบรรทุกจาก UNITED ARAB EMIRATES จำนวน 4 Carton น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 117 กิโลกรัม สำแดงชนิดสินค้าเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (PERSONAL EFFECT SUPPLEMENT) ราคา 53,022.20 บาท ผลการตรวจสอบสินค้า ไม่พบสินค้าตามสำแดง แต่ตรวจพบเป็นยาเสตียรอยด์สำหรับฉีดและรับประทานสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่หมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุ จำนวน 3,043 กล่อง มูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท โดยสินค้าดังกล่าว จัดเป็นยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เบื้องต้นผู้นำเข้าไม่มีใบอนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาแสดงในขณะปฏิบัติพิธีการศุลกากร จึงได้ยึดของดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปกรณีนี้เป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงอากร และนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตามมาตรา 202 243 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
cr.เสาร์แก้ว คำพิวงค์ ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงาน