วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.30 น. ที่บริเวณอาคารสมาคมการประมงสมุทรสาคร ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีสืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน (ตัว ก.) ที่สมุทรสาคร ครั้งที่ 14 โดยมีนายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร, รอง ผอ.ศรชล จังหวัดสมุทรสาคร, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร, นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร, ประมงจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อํานวยการเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร ผู้กํากับ สภอ.เมืองสมุทรสาคร ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย บริษัท กาญจนา คอนกรีต จํากัด ชมรมสวนสาคร บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ผู้แทนบริษัท เชรอนประเทศไทยสํารวจ และ ผลิต จํากัด ผู้แทนบริษัท ปตท.สผ. จํากัด พี่น้องชาวประมงจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก








นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า การจัดพิธีสืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน (ตัว ก.) ที่สมุทรสาคร ครั้งที่ 14 เป็นกิจกรรมสืบเนื่องจากมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งในช่วงเช้าเป็นทำบุญเลี้ยงพระเพลพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยมีพระเทพสาครมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จากนั้นเป็นพิธีเปิดงานสืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน (ตัว ก.) ที่สมุทรสาคร ครั้งที่ 14 โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดฯ อีกทั้งยังมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว จำนวน 5,000 ตัว, กุ้งกุลาดำ จำนวน 100,000 ตัว และลูกปูม้า จำนวน 30,000 ตัว และอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษ คือการประทับมือลงบนโม่ปูน จำนวน 14 ลูก เพื่อนําไปจมเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ “ปะการังสีรุ้ง” และเรือประมงที่ปลดระวางแล้ว จำนวน 2 ลำ เพื่อนำไปเป็นปะการังเทียม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน การมอบทุนการศึกษา อีกทั้งในช่วงบ่ายจะเป็นพิธีการไหว้ “ไหว้ฮ้อเฮียตี๋” ซึ่งปกติชาวประมงจะทำการไหว้ฮ้อ เฮียตี๋ที่บ้านกันอยู่แล้ว ได้เล็งเห็นว่ามีความสำคัญจึงนํามาทำพิธีร่วมกันภายใต้ชื่อสืบชะตา ทะเลอ่าวไทยตอนบน (ตัว ก.) ที่สมุทรสาคร
ซึ่งการจัดพิธีสืบชะตาทะเลอ่าวไทยตอนบน (ตัว ก.) ที่สมุทรสาคร ครั้งที่ 14 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสืบสานวัฒนธรรมการปฏิบัติจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลานแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำรงชีวิตที่มีการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ เห็นความสำคัญของการแบ่งปันและการตอบแทนบุญคุณ การเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอันเป็นวัฒนธรรมไทยที่ควรปฏิบัติสืบไป และเป็นการสร้างความตระหนักให้รักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นสมบัติอันล้ำให้เกิดความยั่งยืน ต่อไป
Credit : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร
พื้นที่โฆษณา
