“ปัญหาสิ่งแวดล้อมในสมุทรสาคร” จะเก่งจากไหนก็แก้ไม่ได้?

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในสมุทรสาคร  ไม่ว่าจะเป็นน้ำในคลองเน่าเสีย  โรงงานปล่อยกลิ่นเหม็น  สร้างฝุ่นควันให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่  ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานมากกว่า 10 ปี ไม่ว่ารัฐบาลส่วนกลางจะมีนโยบายมาแก้ไข  ส่วนราชการดำเนินการตามหน้าที่  หรือแม้แต่ผู้คนในพื้นที่ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ปัญหาก็ยังคงอยู่และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น

     ปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการพูดถึงอย่างเป็นทางการ  คือ ช่วงปี พ.ศ. 2540 กว่า  โดยมี ส.ส.ในพื้นที่ได้ตั้งกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับปัญหาโรงงานปล่อยน้ำเสียจนน้ำในคลองเน่าเสีย  ซึ่ง ส.ส. คนนั้น คือนาวาตรี สุธรรม ระหงษ์  แม้แต่ อดีต ส.ส.ครรชิต ทับสุวรรณ ก็เคยตั้งกระทู้ถามสดในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน  แม้แต่เมื่อไม่นานมานี้ อดีต ส.ส. ทองแดง เบญจะปัก พรรคก้าวไกล ในฐานะส.ส.ฝ่ายค้าน และ อดีต ส.ส. จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็ต่างตั้งกระทู้ถามสดเกี่ยวกับปัญหาน้ำในคลองเน่าเสียในพื้นที่สมุทรสาครในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นกัน  รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยแก้ไขปัญหา  แม้แต่ภาคเอกชนหรือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนก็ออกมาร้องเรียนสื่อและร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่ก็ตามที่เห็น  ปัญหาก็ยังคงเดิมเหมือนที่พวกเรายังเห็นอยู่ในทุกวันนี้ 
     ทำไมถึงเป็นเช่นนี้  ขนาด ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลลงมาแก้ไขยังทำอะไรไม่ได้  ไม่ต้องพูดถึงประชาชนคนธรรมดาที่ร้องเรียนปัญหาด้วยตัวเองจะทำอะไรได้  อย่างปัญหาโรงงานที่ต.แคราย ที่ประชาชนร้องเรียนหน่วยงานรัฐจนโรงงานถูกปิดไปถึง 10 ครั้ง โรงงานก็ยังเปิดมาสร้างปัญหาเหมือนเดิม  ยังไม่รวมอีกหลาย ๆ โรงงานที่เคยถูกปิดปรับปรุงในสมัยท่านผู้ว่าฯคนก่อน  ก็กลับมาเปิดกิจการเริงร่าเหมือนเดิม  หรือแม้แต่บางโรงงานที่ถูกปิดถาวร  ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกเปิดขึ้นมาใหม่ในฐานะโรงงานหน้าใหม่อีกในอนาคตอันใกล้นี้
     เหตุที่เป็นเช่นนี้นั้น มีหลายประการ ประการแรก คือ ต่อให้โรงงานเหล่านั้นทำผิดกฎหมาย  สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากมาย  หรือถูกสั่งให้ปิดถาวรก็ตาม  แต่”กรรมสิทธิ์ในตัวโรงงาน ทรัพย์สินภายใน และที่ดิน ของเจ้าของเดิมก็ยังเหมือนเดิม”  ดังนั้น  เจ้าของเดิมก็ยังสามารถกลับมาเปิดโรงงานได้เหมือนเดิมหากปรับปรุงจนเป็นไปตามที่หน่วยงานรัฐกำหนดไว้  แม้ว่าต่อมาจะทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนอีกหลายครั้งหลายคราจนชาวบ้านโกรธแค้นสาหัสสากรรจ์และสุดท้ายถูกสั่งปิดถาวร  แต่ก็ไม่สามารถห้ามเจ้าของเดิมเปิดโรงงานใหม่หลังเรื่องเงียบได้  โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่หรือหรือเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรมใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ  ซึ่งหากจะไปยึดสิทธิ์นี้จากเจ้าของโรงงานก็ไม่อาจทำได้  เพราะถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนสามารถครอบครองทรัพย์สินได้โดยเสรีหากได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย  เป็นสิทธิที่แม้แต่รัฐก็ไม่อาจริดรอนไปได้โดยไม่มีกฎหมายรับรอง
     ประการที่สอง คือ การที่กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนำมาใช้จริงได้ลำบาก  ไม่ว่าจะเป็นโทษที่น้อยจนคนทำผิดไม่กลัว  ยอมปรับไปก็ไม่เป็นไรกำไรไม่หายเท่าไหร่  ความไม่เป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน  ที่ทำได้เพียงรณรงค์ให้ชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  แต่กับเจ้าของโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ทำผิดกฎหมายกลับทำอะไรไม่ค่อยได้  อ้างว่าติดปัญหาอย่างนั้นติดระเบียบอย่างนี้  บางทีก็อาจพบเจ้าหน้าที่บางคนพูดให้ชาวบ้านเห็นใจเจ้าของโรงงานหรือพูดแทนเจ้าของโรงงานอีกทั้งที่ชาวบ้านเขาเดือดร้อนก็มี  ชาวบ้านร้องเรียนไปตั้งนานก็ไม่ตอบสนองจนชาวบ้านต้องไปร้องสื่อหรือหน่วยงานที่ใหญ่กว่าถึงจะออกมาแก้ปัญหาให้จริง ๆจัง ๆ  พอเรื่องเงียบก็เหมือนเดิม  อย่างตอนผู้ว่าท่านก่อนเคยไล่จัดการโรงงานที่เป็นปัญหามากมาย  แต่ตอนนี้เรื่องเงียบคลองก็เน่าเหมือนเดิมอยู่ดี  ยกตัวอย่างคลองสี่วาพาสวัสดิ์  ที่หน่วยงานรัฐมากมายมีโครงการบำบัดปรับปรุงทุกปี  ก็บำบัดกันทุกปีอยู่นั่นแหละ  ปัจจุบันก็ลองไปดูได้เลยว่าน้ำก็ดำเหมือนเดิม  ไม่รู้ว่าใช้เงินไปเท่าไหร่แล้ว
     ประการสุดท้าย คือ ความไม่ต่อเนื่องของการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  เป็นที่รู้กันดีว่าโครงการต่าง ๆนานาที่ถูกจัดขึ้นส่วนใหญ่ก็อยู่ในรูปแบบ “จัดเวที-กล่าวเปิดงาน-ตัดริบบิ้น-จัดกิจกรรม-กินข้าว-ปิดงาน-เก็บของ”  ถ้าเป็นงานของภาคประชาสังคมหรือหน่วยงานเอกชนก็ไม่เป็นอะไรหรอก  เพราะถือว่าเป็นงานที่จัดด้วยเงินส่วนตัวไม่ได้ใช้ภาษีประชาชน  แต่สำหรับหน่วยงานรัฐแล้วทุกโครงการล้วนเกิดจากภาษีประชาชน  การจัดโครงการแล้วไม่เกิดประโยชน์ย่อมทำให้ภาษีประชาชนสูญเปล่า  ส่วนมากเราจะพบกิจกรรมที่รัฐเป็นผู้จัดส่วนใหญ่ก็มักเป็นรูปแบบที่เห็นทั่วไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแม้แต่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมด้วย  เช่น  โครงการจำพวกปีนึงราดน้ำหมักอีเอ็มลงคลองครั้งสองครั้ง  หรือปีนึงโยนอีเอ็มบอลลงคลองครั้งสองครั้ง  ปลูกป่าชายเลนแล้วก็ทิ้งไว้ปล่อยตามมีตามเกิดก็มี  โครงการเดินรณรงค์แล้วจบไป  เอารถฉีดน้ำมาฉีดพ่นฝอยเพื่อไล่ pm2.5  จริงๆแล้วเราได้ประโยชน์อะไรกับโครงการพวกนี้  ทั้งที่ความจริงแล้วการจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องทำในภาพใหญ่และต้องทำอย่างต่อเนื่อง  เช่น  ปัญหาน้ำเน่าเสียจำเป็นต้องบำบัดน้ำต่อเนื่องถึงจะเกิดผล  ไม่ใช่นาน ๆทีถึงทำ  รวมถึงจำเป็นต้องมีการลอกคลองอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ซากตะกอนอินทรีย์สะสมมากจนเกินไป  ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่จะทำให้น้ำเสีย  ถ้าทำร่วมกับการสาดน้ำหมักจุลินทรีย์อีเอ็ม  ก็จะทำให้น้ำปรับสภาพดีขึ้นมาได้  เพราะน้ำจุลินทรีย์ทำให้ตะกอนอินทรีย์ในน้ำตกตะกอนนั่นเอง
     สุดท้ายนี้  หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปจังหวัดเราก็คงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษที่ยากต่อการแก้ไขในที่สุด  แม้เราจะท้อใจต่อปัญหาที่พบเจอในบ้านเกิดตัวเอง  แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องท้อถอยไม่แก้ไขปัญหาอะไร  แม้ว่าแท้จริงแล้วปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในจังหวัดเราเท่านั้น  ยังมีอีกหลายที่ทั้งในประเทศนี้และบนโลกนี้ก็เกิดปัญหานี้เช่นกัน  พวกเราก็ควรมีความหวังและสู้ต่อไป  เพื่อสักวันหนึ่งเราจะแก้ปัญหานี้ได้  เพราะที่นี่คือบ้านเกิดของพวกเรา

บทความและภาพโดย  เพชรายุทธ ทรงชุ่ม  นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและอาสาสมัคร ทสม. จ. สมุทรสาคร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ