ความไม่เข้าใจ แต่แสร้งว่าเข้าใจ

ในสังคมมนุษย์ การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิต เนื่องด้วยในปัจจุบันชีวิตมนุษย์ทุกคนย่อมผูกติดกับเทคโนโลยีและข้อมูลมหาศาลไม่มากก็น้อย แม้จะมีผู้ที่แสดงตนว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือต่อต้านมัน แต่สุดท้ายเขาก็ต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง เพราะมันคือวิถีชีวิตปกติของมนุษย์ในปัจจุบันด้วยความที่เทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ผู้คนต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้มันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนนั้นจะสามารถเข้าใจในเทคโนโลยีไปเสียหมดทุกอย่าง ย่อมต้องมีสิ่งที่ไม่รู้เป็นปกติธรรมดา โดยปกติแล้วจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ แต่ด้วยความที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปัญญาชั้นสูง จึงทำให้เกิด ”ทิฐิ” ขึ้นมา เพื่อที่จะหลีกหนีความลำบากและความไม่เข้าใจทั้งปวงโดยอ้างเหตุผลนานาในการไม่ยอมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงมีหลาย ๆคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีแต่แสร้งว่าเข้าใจ เมื่อมีคนจับผิดได้ก็จะหาเหตุผลข้ออ้างต่าง ๆมากลบเกลื่อนมันไปเสีย ทั้งที่ควรจะแก้ไขมันด้วยการเรียนรู้

ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวที่ผู้คนยอมที่จะมีทิฐิในการแสร้งว่าเข้าใจมันทั้งที่ไม่ได้เข้าใจมันเสียเลย คือ อุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในปัจจุบันผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สมาทานตนว่าเป็น ”คนรุ่นใหม่” หรือกลุ่มคนที่ถูกด่าทอจากคนอีกกลุ่มและไล่ให้เป็น ”คนรุ่นเก่า” ก็ย่อมมีบุคคลประเภทนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะแท้จริงการจะเข้าใจอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นย่อมต้องใช้เวลาในการศึกษาหาข้อมูลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปรัชญา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และอื่น ๆอีกมากมายหลายศาสตร์ แล้วทำการวิเคราะห์กลั่นกรององค์ความรู้เหล่านั้นให้ตกผลึกเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ เป็นแก่นที่ผนวกทั้งความรู้และความเชื่อเข้าด้วยกัน จึงจะสามารถยึดเป็นอุดมการณ์ได้ แต่ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่อ่านข้อมูลเพียงผิวเผิน แต่ข้อมูลเหล่านั้นเป็นที่ถูกใจประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จึงสมาทานยกย่องมันขึ้นเป็นอุดมการณ์และเชิดชูมันอย่างไม่ลืมหูลืมตา นี่หรือเรียกว่า ”เข้าใจในอุดมการณ์” ซึ่งรู้แก่ใจดีอยู่แล้วว่าไม่ได้เข้าใจ แต่มันถูกใจ แต่จะบอกให้คนทั่วไปรับรู้ว่า ”ตัวข้าไม่รู้อะไรเลย แค่ชอบ แค่ฟินกับคำพูดข้อเขียนเหล่านั้น” ก็คงไม่ได้ มิฉะนั้นคงเสียหน้าแย่ ดังนั้นจึงต้องเหตุผลมากมายมารองรับความเชื่อของตนเอง เสมือนการปกปิดจุดด้อยของตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูมาโจมตีนั่นเอง

ซึ่งเราจะเห็นสิ่งเหล่านี้จากการนำแนวคิดทางการเมือง เช่น มาร์กซิสม์ที่เป็นต้นกำเนิดของคอมมิวนิสต์ มาสมาทานเป็นประชาธิปไตยเพียงเพราะในแนวคิดทางการเมืองนั้นมีส่วนที่สอนว่า ”ทุกคนเท่าเทียมกัน” ทั้งที่องค์ประกอบจริง ๆ ของแนวคิดทางการเมืองนี้มันคือเผด็จการ ไม่มีการเคารพเสียงของผู้คนเลย ขอแค่ได้ชื่อว่าเป็นแรงงานก็ทำอะไรก็ได้แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ และในทางปฏิบัติก็ได้แสดงถึงความล้มเหลวจนประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อย่างจีนต้องปรับตัว แต่ก็ยังมีคนที่หาเหตุผลมารองรับความสุดโต่งของตนเองในเรื่องนี้ต่าง ๆนานาอยู่ดี ทั้งที่หากเข้าใจมันอย่างดีแล้ว อาจจะประยุกต์ใช้กับประชาธิปไตยได้จริง แต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทุกคนเท่าเทียมกันตามความหมายดั้งเดิมของแนวคิดแน่นอน
สุดท้าย การจะเชื่อหรือเรียนรู้อะไร ควรเรียนรู้ให้จริงและเข้าใจอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช้รู้เล็กน้อยแล้วคิดว่าตนเองรู้ที่สุด ทำแสร้งว่าเข้าใจแต่ไม่เข้าใจอะไรเลย มันจะเดือดร้อนต่อตนเองและสังคมรอบข้างเอาได้

บทความโดย : จัตุราคม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ