วันที่ 27 ธันวาคม 2567 เป็นวันครบรอบ 10 ปี การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นับว่าเป็นพระราชบัญญัติกฎหมายที่สร้างการตื่นตัวให้กับประชาชนเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นอย่างมาก
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่าหากย้อนไปสำหรับที่มาของกฎหมายฉบับนี้ ต้องขอบคุณผู้ริเริ่มผลักดัน จุดเริ่มต้นจากกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะนักเรียนจากอังกฤษ นักธุรกิจ นักการศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ นักกฎหมาย ประชาชนผู้รักสัตว์ โดยการนำของคุณมีชัย วีระไวทยะและคุณธีระพงศ์ ปังสรีวงศ์ มีแนวความคิดร่วมกันก่อตั้งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ขึ้น เมื่อปี 2537 หรือเมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมา โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวเห็นว่าประเทศไทย ถูกแทรกแซงทางการค้าและด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และเมื่อศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทารุณสัตว์ ที่สำคัญไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูจัดสวัสดิภาพสัตว์
ต่อมาในปี พ.ศ.2539 รายการสารคดีของสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสารคดีเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัขของประเทศไทย และกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ทำให้ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรป ประณามประเทศไทยอย่างรุนแรง สำหรับการริเริ่มโครงการรณรงค์ผลักดันกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2537 เรื่อยมาและเห็นเป็นรูปธรรมเมื่อคุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ เป็นเลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ โดยในปี 2548 มีกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้โครงการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งชาติ ซึ่งได้รวบรวมหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนและสื่อมวลชนเข้าด้วยกัน เพื่อดำเนินการผลักดันกฎหมายดังกล่าวร่วมกัน โดยกำหนดกลยุทธ์ ศาสตร์การดำเนินงานไว้ 8 ขั้นตอน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กำหนดแนวทางการร่างกฎหมาย 2. แต่งตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและผู้อาวุโส ตัวแทนวงการต่างๆ3. จัดเวทีสัมมนาเพื่อหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยกระบวนการ AIC 4. ยกร่างกฎหมาย โดยคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง 5. ทบทวน ตรวจสอบร่าง โดยคณะนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ6. เปิดประชาพิจารณ์ โดยตัวแทนองค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน (NCOs) ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการกฎหมายป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติ7. พิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายฯ โดยคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ จากกระบวนการประชาพิจารณ์ 8. นำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันเข้าสู่กระบวนการ พัฒนาเครือข่ายประชาคมทั่วประเทศ เพื่อร่วมผลักดัน รวบรวมรายชื่อสนับสนุน 150,000 รายชื่อ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 กำหนด 50,000 รายชื่อ) ภายหลัง รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดเหลือเพียง 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอรัฐสภาฯ หลังจากนั้นมีการแต่งตั้งคณะทำงานอาวุโส (ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน) เพื่อติดตามความคืบหน้าและประสานงาน ฯลฯ ให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของโครงการ
ในขั้นตอนการดำเนินงาน ขั้นตอนที่ 1,2 ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการโดยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ในระดับชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจัดตั้งเป็นกรรมการยกร่างและที่ปรึกษา
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 – 20 มีนาคม 2548 ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ “เจตนารมณ์กฎหมายป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติ” ขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยการเข้าร่วมสัมมนาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งภาครัฐและเอกชนและสื่อมวลชนกว่า 32 องค์กรเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่หลากหลายสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนในการที่จะให้มีกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ซึ่งกำลังจะเป็นเครื่องมือต่อรองในทางการค้าระหว่างประเทศในเวลาไม่นาน
ในการเปิดสัมมนาดังกล่าว คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ ผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้กล่าวโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “เมื่อก้าวสู่วงการอนุรักษ์ใหม่ๆ เมื่อ 7 – 8 ปี ก่อน กระผมประทับใจในวลีของนักอนุรักษ์ที่กล่าวว่า “ดอกไม้ดอกเดียวหายไปจากป่า มีผลกระทบถึงดวงดาว” และว่า.“การอนุรักษ์ไม่ใช่การห้ามใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่การอนุรักษ์ หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาดและยั่งยืนตกทอดถึงอนุชนรุ่นหลังและว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนประชาชนหรือชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม” เป็นต้น
รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในขณะนั้น ในฐานะผู้นำการสัมมนาได้กล่าวถึง คำนิยมของสวัสดิภาพสัตว์ไว้ 5 อย่าง (FIVE FREEDOM) กล่าวคือสวัสดิภาพที่สัตว์แต่ละตัวจะได้รับทางกายภาพและจิตใจ โดยสัตว์มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตโดยมีอิสรภาพ 5 ประการ คือ 1. อิสรภาพจากความหิวและกระหาย 2. อิสรภาพจากความไม่สะดวกสบาย 3. อิสรภาพจากความเจ็บปวดและอันตราย หรือโรค 4. อิสรภาพที่จะแสดงพฤติกรรมปกติตามธรรมชาติ 5. อิสรภาพจากความกลัวและความเครียด ซึ่งลักษณะของนิยามดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อสัตว์ว่า การกระทำเช่นใดที่จัดว่าทารุณหรือไม่ทารุณ ซึ่งจะเป็นแนวคิดในการกำหนดกรอบของกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันนี้หน่วยงานภาครัฐโดยทั่วไป อาทิ กทม. สวนสัตว์ต่างๆ นำไปใช้ปฏิบัติอยู่
สำหรับบุคคลที่ร่วมในการประกาศปฏิญญา การจัดทำ”เจตนารมณ์ของกฎหมายป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติ” วันที่ 19 – 20 มีนาคม 2548 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ในครั้งสำคัญนั้น ประกอบด้วย สพ.ญ.มณทิพญ์ เจตยะคามิน AFRIMS คุณยศพงษ์ เต็มศิริพงษ์ สมาคมส่งเสริมการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้แห่งประเทศไทย คุณเกียรติยศโรเจอร์ โลหะนันทน์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย คุณกรกนก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กลุ่ม ANIMALS RESCUE TEAM น.สพ.เกียรติศักดิ์ โรจน์นิรันดร์ มูลนิธิเพื่อการรักษาสุนัขจรจัด คุณดนัย อนันติโย อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายแพทย์ดิลก ทิวทองมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย คุณสุชาดา วงศ์เฟื่องฟูถาวร สมาคมนกสวยงามแห่งประเทศไทย คุณสิทธิพร บูรณนัฎ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ ผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย อ.เกียรติสกุล ชลคงคา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ คุณการุณ ชัยวงศ์โรจน์ นิตยสาร DOGAZINE คุณวิชญ เชยะกุล สนง.กม.และการบัญชีนิตินัย คุณโกเมน สิมากรศูนย์ตราสารหนี้ไทย คุณชัชวาลย์ ชื่นใจสนง.ศักยภาพทนายความ คุณนิรันดร์ แสนสอน สนง.กฎหมายนิรันดร์ แสนสอนและเพื่อน คุณประเสริฐ โพธิจันทร์ สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย น.สพ.ยันต์ สุขวงษ์ สัตวแพทย์สภา คุณอำพัน ยงพิศาลภพ กรมปศุสัตว์ คุณมัทนา ศรีกระจ่าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คุณนภาพร เครือชัยสุข หนังสือพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน คุณนริศรา อ่อนเรียน หนังสือพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน คุณกรุณา บรรดาศักดิ์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์คุณกมลทิพย์ วรศรี หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คุณพีช งามจิต หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ คุณสุภาพร จุฬามณีหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คุณชุติมา นันทะวงษ์ สถานีวิทยุศึกษา คุณชุติมา จันกิมฮะ สถานีวิทยุจุฬาฯ คุณปาจรีย์ อนันทคุณ นิตยสารยัวร์ เพ็ท คุณลาวัลย์ โชติกประคัลภ์ นิตยสารยัวร์ เพ็ท คุณพยงค์ ฉัตรวิรุฬห์ อาจารย์พิเศษคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณวิชิต แก่นกำจร รองอธิการบดีสำนักงานศาลแขวงคุณธีระศักดิ์ ชีชุนทด คณะกรรมการร่างกฎหมาย คุณศิริ หวังบุญเกิด อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
หลังจากนั้น พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็มีการผลักดันเรื่อยมาอีกหลายวาระหลายรัฐบาล
ในปี พ.ศ. 2555 มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยกัน 4 ฉบับ ประกอบด้วย
1. คณะรัฐมนตรี (เป็นร่างพ.ร.บ.ฯ ของกรมปศุสัตว์ ) เสนอวันที่ 14 มี.ค. 2555
2.คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ (กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11,510 คน เสนอวันที่ 5 เม.ย. 2555 กฎหมายภาคประชาชนเพียงฉบับเดียว
3. คุณนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทยพัฒนากับคณะ เสนอวันที่ 22 ส.ค. 2555
4. คุณเจริญ คันธวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์กับคณะ เสนอวันที่ 10 ต.ค. 2555
โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวนั้นมีหลักการและเหตุผลในทำนองเดียวกัน จึงนำมาพิจารณารวมกันในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันพุธที่ 10 ต.ค. 55 ได้ลงมติรับหลักการ ร่างทั้ง 4 ฉบับ ด้วยมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 325 ต่อ 0 เสียง มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง จำนวน 36 คน ด้วยเหตุที่ร่าง พ.ร.บ. ฯ ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอด้วยจึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมดตาม มาตรา 163 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 (คณะกรรมาธิการวิสามัญที่มาจากภาคประชาชนจำนวน 12 คน นั้นมาจากสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย) ในการพิจารณาในวาระที่สองขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญด้วย แต่เนื่องจากระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวต้องชะลอการพิจารณาออกไป
ในปี พ.ศ.2557 ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ… ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 15/2557 วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2557 อีกครั้ง ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 แห่งร่าง พ.ร.บ.ฯ ด้วยมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 200 เสียง งดออกคะแนน 3 เสียง มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วันและกำหนดให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
จนกระทั่งจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 57 ได้พิจารณาลงมติให้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. …. ออกเป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 188 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 4 เสียง จากจำนวนสมาชิกสนช. ที่เข้าประชุมจำนวน 193 คน กำหนดให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพื่อลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ดังนั้น พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จึงได้ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 และให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 27 ธันวาคม 2557 จึงนับเป็นเวลาครบ 10 ปี แห่งการประกาศใช้กฎหมาย และ จะครบรอบ 20 ปี แห่งการประกาศปฏิญญาเจตนารมณ์กฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ อีกด้วย
cr.เสาร์แก้ว คำพิวงค์ ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงาน 087-719-9429