ต้นโสน เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่ตามพืชที่แหล่งน้ำ มีคุณสมบัติในการตรึงธาตุไนโตรเจนลงดินจากแบคทีเรียไรโซเบียมที่อยู่ในปมราก ซึ่งไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชที่ช่วยให้พืชมีใบเขียว แตกยอดดี และต้นสูง โดยปกติธาตุนี้จะอยู่ในอากาศเป็นก๊าซชนิดหนึ่ง ซึ่งพืชไม่อาจนำมาใช้ได้ จึงต้องผ่านกระบวนการตรีงลงสู่ดินด้วยแบคทีเรียเสียก่อนหรือถูกทำเป็นรูปที่สามารถนำไปใช้งานได้เลย เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะเป็นรูปแบบไอออนที่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้
นอกจากจะมีประโยชน์ด้านการบำรุงดินแล้ว ในวัฒนธรรมการกินของไทยเรา ต้นโสนนั้นจะมีหนอนด้วงชนิดหนึ่งที่อาศัยในต้นโสน แล้วคนสมัยก่อนจะนำหนอนเหล่านั้นมาให้ดูดน้ำกะทิแล้วนำไปทำเป็นอาหาร ซึ่งจะมีรสชาติมันอร่อย นอกจากอาหารคาวแล้วยังมีอาหารหวาน โดยนำดอกโสนมาทำเป็นขนมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า”ขนมดอกโสน” ด้วยการนำดอกโสนมาคลุกกับแป้งข้าวจ้าวและมะพร้าวขูด จากนั้นนำไปนึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้วหากจะกินก็นำมาคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล ส่วนอีกตำรับหนึ่ง จะนำดอกโสน น้ำตาลปี๊บและแป้งข้าวจ้าวผสมน้ำ กวนในกระทะจนเหนียวหวาน เมื่อจะกินก็จะปั้นลูกกลม ๆ แล้วคลุกด้วยมะพร้าวขูด
แต่อาหารทั้งสองอย่างนี้กลายเป็นสิ่งที่หากินได้ยากในปัจจุบัน เรื่องด้วยการที่ต้นโสนเป็นพืชที่ขึ้นตามแหล่งน้ำ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งที่ขึ้นของต้นโสนก็ถูกนำไปพัฒนาเป็นสิ่งปลูกสร้างเพื่อสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ เพื่อความเจริญและความมั่งคั่งทางการเงินของผู้คนในสังคม แม้แต่แม่น้ำลำคลองที่สมัยก่อนเป็นเส้นทางในการสัญจร แหล่งน้ำดำรงชีพ พื้นที่หาสัตว์น้ำเพื่อดำรงชีพ และเป็นหนึ่งในแหล่งอาศัยของต้นโสนด้วยเช่นกัน ก็กลายเป็นที่ทิ้งน้ำเสียของทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือนต่างๆ ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย สัตว์น้ำพืชน้ำล้มตาย หากรอดตายก็ไม่อาจนำมาบริโภคได้เพราะมีกลิ่นและรสชาติที่แย่ ซึ่งรวมถึงดอกโสนที่จะนำมาทำขนมด้วย หากไม่ได้เป็นดอกโสนที่ขึ้นในพื้นที่ที่สะอาด ก็จะไม่มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์และทำให้มีกลิ่นเหม็นเขียว แม้จะไม่ได้ขึ้นในแหล่งน้ำเน่าเสียแต่อยู่ในพื้นที่ที่อากาศเป็นมลพิษจากเชม่าควันหรือสารเคมีต่าง ๆ ก็จะทำให้มีกลิ่นเหม็นเขียวเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าหากสิ่งแวดล้อมแย่ลง น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ย่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นสิ่งที่สร้างวัฒนธรรมการกินของผู้คนในสังคม หากเรายังไม่ใส่ใจกันอยู่เช่นนี้ ในอนาคตข้างหน้า สัตว์ที่รู้จัก ต้นไม้ที่เคยเห็น ทิวทัศน์ที่คุ้นเคย อาหารที่เคยกิน ก็อาจจะไม่มีให้เห็นหรือได้กินอีกต่อไป กลายเป็นเพียงความทรงจำอันเลือนลางในความคิดของคนรุ่นเก่าและภาพที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่สีสันซีดลงและถูกลืมเลือนตามกาลเวลา ซึ่งมันย่อมเป็นสิ่งที่น่าเศร้ายิ่งนัก
ขอบคุณภาพจาก https://www.calforlife.com และ https://m.facebook.com/TasteDiary.Thai ,เพจเฟสบุ๊ก เอเดนฟาร์ม
ว่าที่ร้อยตรี เพชรายุทธ ทรงชุ่ม กรรมการเครือข่าย ทสม. ตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร