วันที่ 11 มิถุนายน 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และวางมาตรการช่วยเหลือประชาชนใน 7 จังหวัดชายแดน ได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, สระแก้ว, จันทบุรี และตราด ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลกาบเชิง อำเภอกาบเชิงสุรินทร์ เพื่อทราบผลกระทบ แนวรับป้องกัน ถ้าหากเกิดปัญกาขัดแย้ง



สุรินทร์มีพื้นที่ชายแดนยาว 125 กิโลเมตร ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ บัวเชด สังขะ กาบเชิง และพนมดงรัก มีจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง คือ ช่องจอม และช่องทางธรรมชาติ 54 ช่อง โดยพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ได้แก่ บริเวณปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือนโต๊จ ผลกระทบต่อ 287 หมู่บ้าน ใน 22 ตำบล 4 อำเภอ มีประชาชนกว่า 144,000 คนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ปัจจุบันมีหลุมหลบภัย 224 แห่ง แต่บางส่วนชำรุดและไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงเร่งซ่อมแซมและจัดสร้างเพิ่มเติม พร้อมขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมบริจาควัสดุจำเป็น เช่น ท่อกลม กระสอบทราย และปูน โดยสามารถนำส่งได้ที่ที่ว่าการอำเภอทั้ง 4 แห่ง หรือในหมู่บ้านเป้าหมาย ด้านแผนอพยพ จังหวัดสุรินทร์ได้เตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว 65 แห่ง ในโรงเรียน วัด เทศบาล และ อบต. สำหรับรองรับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีจำนวนรวม 746 ราย ใน 4 อำเภอ พร้อมเตรียมปรับโรงพยาบาลพนมดงรัก และโรงพยาบาลกาบเชิง เป็นโรงพยาบาลสนามหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ในส่วนของงบประมาณ สามารถใช้งบ อปท. และเงินทดรองราชการช่วยเหลือได้ทันที แบ่งเป็นงบเชิงป้องกัน 10 ล้านบาท และกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน 20 ล้านบาท อาหาร วัสดุอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ และค่าดำเนินการอื่น
หลังรับฟังรายงานสรุปเหตุการณ์ นายกฯ มอบนโยบายและกล่าวขอบคุณแม่ทัพภาคที่ 2 ที่อยู่หน้างานตลอด รู้สึกเห็นใจที่ได้รับแรงกดดัน และอยากให้ซักซ้อมการอพยพของเด็กนักเรียนให้เกิดความเคยชิน พร้อมเน้นย้ำในการสร้างสันติภาพและความสงบสุข ไม่อยากให้เกิดการปลุกกระแสสร้างความรุนแรง อยากให้คำนึงถึงชีวิตคนหน้างาน เพราะหากเกิดเหตุการณ์จะไม่ใช่เรื่องเล็ก ยืนยันว่า ผู้นำ 2 ประเทศได้พูดคุยกัน และเห็นตรงกันคืออยากเห็นความสงบสุข
“มหาดไทยเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คำพูดแบบไหนเป็นการคุยภายใน ยังไม่ควารสื่อสารออกมาภายนอก เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ยืนยันจะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด และขอชื่นชมทหารที่ทำหน้าที่รักษาความสงบสุขของบ้านเมือง อะไรที่มีความเร่งด่วนจำเป็นขอให้ติดต่อตรงมายัง 2 กระทรวง ขอให้พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้มี IO เฟกนิวส์สร้างความสับสนให้สังคม ขอให้ทุกท่านทำงานร่วมกันเต็มที่ เป็นทีมประเทศไทย รัฐบาลพร้อมซัปพอร์ตทุกหน่วย เป้าหมายเดียวกันคือรักษาสันติภาพ
ปวริศร์ วงษา รายงาน