กอ.รมน. คลายข้อสงสัยสังคม พร้อมทำงานความมั่นคงเพื่อประชาชน

วันที่ 8 พ.ย.66 กอ.รมน. โดย ศูนย์ศึกษาและวิทยาการด้านความมั่นคง กอ.รมน. จัดงานเสวนา “พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551” โดยมี พล.ท. บรรยง ทองน่วม รองเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานฯ วัตถุประสงค์การจัดเสวนาเพื่อชี้แจงข้อมูลตอบปัญหาข้อสงสัยที่สังคมยังที่ไม่เข้าในบทบาทหน้าที่ รวมถึงรูปแบบ ภารกิจการจัด กอ.รมน. โดยมี พล.อ.ดร. นพนันต์ ชั้นประดับ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.ท.ดร. ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก น.ส.ชลธนสรณ์ พิสฐศาสน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความมั่นคงภายในประเทศ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (สมช.) ร่วมเสวนา ซึ่งภายในงานมีการถ่ายทอดผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ไปยัง กอ.รมน.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบข้อมูลและนำไปสื่อสาร ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงบทบาทของ กอ.รมน. อย่างถูกต้อง ในโอกาสนี้มี ผู้แทน กอ.รมน. พร้อมด้วยสื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาฯ ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารรื่นฤดี กอ.รมน. (ส่วนกลาง) มีประเด็นที่ชี้แจง 8 ประเด็น คือ 1) ความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 2)หลักการจัดหน่วยงานความมั่นคงเปรียบเทียบ 3)การใช้ทหารสนับสนุนรัฐบาลความมั่นคงภายในประเทศและการปฏิบัติสากล  4)หลักการอำนาจพลเรือนเหนือทหาร 5)หลักการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย 6)หลักความซ้ำซ้อนองค์การและการปฏิบัติ  7)งบประมาณ กอ.รมน.เพื่อประชาชน
    
โดย พล.อ. ดร. นพนันต์ ชั้นประดับ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ชี้แจงในประเด็นการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.รบ.การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 นั้น ไม่มีการระบุชัดเจนว่าต้องการยุบด้วยสาเหตุใด ทั้งที่ กอ.รมน. มีบทบาทหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมาย ไม่ได้ซ้ำซ้อน ส่วนการจัดอัตรากำลังพลเป็นโครงสร้างผสม ทหารพลเรือน แบ่งอัตราอย่างชัดเจน ดังนั้นการเสนอร่าง ยุบ กอ.รมน. อาจพิจารณาในลักษณะผิดหลักการ และข้ามขั้นตอนการปรับปรุงหน้าที่ภารกิจของส่วนราชการ ซึ่งการจัดหน่วยงานเป็นไปตามกฎหมายและหลักการทฤษฎีการจัดองค์การที่เป็นแบบสากล และไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าอำนาจทหารเหนือกว่าพลเรือน ที่จะนำไปเป็นเหตุผลสู่การยุบ กอ.รมน. ที่สำคัญหากมองว่าการจัดกำลัง กอ.รมน. มีความซับซ้อนและซ้ำซ้อนนั้น ไม่จำเป็นต้องยกเลิก พ.ร.บ. แต่สามารถแก้ไขด้วยคำสั่งระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ โดยฝ่ายบริหารผ่านมติที่ประชุมครม. ได้
    
ด้าน พล.ท.ดร.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ย้ำว่าการแก้ไขปัญหาความมั่นคงไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ด้วยเพียงหน่วยเดียว ต้องร่วมมือกันในรูปแบบกองอำนวยการร่วม ทำงานแบบบูรณาการ เพื่อพร้อมที่จะรับมือปัญหาใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นน.ส.ชลธนสรณ์ พิสิฐศาสน์ ผู้แทน จาก สมช. กล่าวว่า การจะยุบ กอ.รมน. หรือยกเลิกพระราชบัญญัติ กอ.รมน. ควรจะต้องมาพิจารณาก่อนว่า ปัญหาอยู่ที่ตัวกฎหมาย หรือสาระของกฎหมาย ซึ่งหากมีปัญหาที่กลไกใด ก็สามารถแก้ไขรายมาตราได้ หรือหากปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติ ก็ต้องกลับมาพิจารณาประเด็นปัญหาที่ถูกต้อง และพูดถึงประเด็นความสำคัญของ กอ.รมน. ที่มีหน้าที่ในการระงับยับยั้งภัยความมั่นคงของประเทศ ซึ่งภัยปัจจุบันมีพัฒนาการขึ้นมาต่างจากอดีต เช่น ภัยคอมมิวนิสต์ ภัยสงคราม ภัยการก่อการร้าย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเป็นภัยเศรษฐกิจ ภัยทางสังคม ที่มีพลวัตรสูง และมีความรุนแรงสูงมาก ซึ่งปัญหาความมั่นคงเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าควรจะออกแบบหน่วยงานความมั่นคง เพื่อสกัดกั้นภัยต่าง ๆ ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศ และสังคม หรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างไร เพราะภัย ๆ หนึ่ง ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่า จะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบได้หรือไม่ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และหน่วยงานนั้น จะต้องทันต่อภัย มีความยืดหยุ่น ทำได้ทั้งในภาวะปกติ และไม่ปกติ โดยมีสายบังคับบัญชาที่สั้น และกระชับ ไม่เน้นระบบราชการปกติ ประกอบกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และการบูรณาการ ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อตอบสนองภัยได้อย่างรวดเร็ว และต้องอาศัยภาคประชาชน ดึงประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมั่นคง จึงสะท้อนความจำเป็นจะต้องมี พ.ร.บ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 หรือ จำเป็นจะต้องมี กอ.รมน. เพื่อตอบสนองภัยต่าง ๆ และมีเครือข่าย ประกอบกับ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะ มีความยืดหยุ่นกว่าหน่วยปกติ เพื่อตอบสนองภัยได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น หากคิดจะยุบ กอ.รมน. หรือจะไปตั้งหน่วยงานใหม่ ก็จะต้องหาคำตอบว่า จะมีหน่วยงานใดที่สามารถประสานความร่วมมือในการภัยรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในการปฏิบัตินั้น สมช. เป็นเสมือนหน่วยงานในการทำหน้าที่กำหนดนโยบายสู่หน่วยงาน หรือประเด็นความมั่นคง แต่ สมช. เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก และมีช่องว่างขาดการอำนวยการ ดังนั้น กอ.รมน. จึงถือเป็นข้อต่อโซ่ที่เชื่อมการทำงานระหว่างหน่วยงานกำหนดนโยบายกับหน่วยงานปฏิบัติ ในงานเสวนาฯ ยังย้ำว่าทั่วโลกใช้ทหารสนับสนุนความมั่นคง ถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล อาทิการจัดระเบียบสาธารณะ การต่อต้านการก่อการร้าย การควบคุมชายแดน  การปราบปรามยาเสพติด ป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการรวบรวมข่าวสาร การบรรเทาสาธารณภัย  เป็นต้น

ส่วนการยุบ กอ.รมน.แล้ว ตั้งกระทรวงมาตุภูมิฯแบบสหรัฐตามที่มีการเสนอ นั้น พล.อ.ดร.นพนันต์ ฯ ย้ำว่าหลักการจัดหน่วยงานความมั่นคงเปรียบเทียบและการปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีองค์กรและหลักสากล  ที่ส่วนใหญ่หัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นหัวหน้าหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ขณะที่การยุบ กอ.รมน. ไปรวมกับ สมช. ก็คือการย้ายทั้งหน่วยไปเปลี่ยนต้นสังกัด ซึ่งขัดต่อหลักการจัดองค์การ / และการยุบ กอ.รมน. แล้วรัฐบาลจะมีงบ 7,700 ล้านบาท ไปใช้ เป็นเรื่องเท็จ เพราะงานยังอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนงบจาก กอ.รมน. ไปอยู่ที่ สมช.ขณะเดียวกันยังตอบโต้กรณีบางบุคคลกล่าวถึงเรื่องงบราชการของ กอ. รมน. เอาเงินไปใช้สร้างความร่ำรวยให้กับนายทหารชั้นสูงว่า ไม่มีข้อพิสูจน์ และไม่เป็นความจริง  และไม่สามารถไปสรุปได้ว่าไปสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลอย่างที่กล่าวอ้าง ส่วนที่กล่าวถึงมีการใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท นั้น นั่นคือการรวมงบประมาณสะสมในแต่ละปีสะสมรวมมานำเสนอ เพราะงบประมาณในแต่ละปี ของ กอ.รมน. จะตกอยู่ราวๆ 7 พันกว่าล้านบาท และเป็นการเสนอขอตามขั้นตอน ของระบบการใช้จ่ายงบประมาณของทางราชการ ที่มีหน่วยงานกลั่นกรองและตรวจสอบได้ตามระบบงบประมาณของทางราชการ เพราะหากมีการรวมงบประมาณของหน่วยราชการอื่นแบบสะสมในแต่ละปีแบบนี้ก็จะพบว่าทุกหน่วยราชการก็มีงบประมาณสูงเช่นเดียวกัน ด้าน พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน.ย้ำว่า บทบาทที่สำคัญของ กอ.รมน. คือการแก้ปัญหาความไม่สงบใน จชต. และปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงที่ต้องอาศัยหลายหน่วยราชการช่วยกัน เฉพาะกลไกปกติอาจแก้ไขได้ไม่สมบูรณ์ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้  ต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการกัน  พร้อมย้ำว่าเรื่องงบประมาณ ในส่วนหมวดงบลับปัจจุบันไม่มีแล้ว

ปัจจุบัน กอ.รมน. ได้มีการปรับการทำงาน อำนาจหน้าที่ ตลอดจนโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องตามบริบทความมั่นคงใหม่ และตามการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงของโลก ซึ่ง กอ.รมน. จึงมีภารกิจในการรักษาความมั่นคงของประเทศที่คลอบคลุมในทุกมิติ ควบคู่กับการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ การช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ โครงการปราชญ์ขาวบ้าน การสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันยาเสพติด การให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากภัยคุกคามต่างๆ ตลอดจนการเข้าไปร่วมกับประชาชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม และดูแลความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ