ครบรอบ 3 ปี เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์

ครบรอบ 3 ปี การขึ้นระวางประจำการเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ (OPV-552) เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงกระบี่ลำที่ 2 ของกองทัพเรือไทย (Royal Thai Navy: RTN) 

 

เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ หรือ HTMS Prachuap Khiri Khan (OPV-552) เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงกระบี่ลำที่ 2 ที่ถูกต่อขึ้นในประเทศไทย โดยเรือมีต้นแบบมาจากเรือ River Class Batch 2 ของบริษัท BAE Systems Maritime – Naval Ships ประเทศอังกฤษ ส่วนการดำเนินการในส่วนอื่น ๆ นั้น อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จะดำเนินการประกอบตัวเรือ การต่อบล็อกเรือ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ของเรือ และกรมสรรพาวุธทหารเรือจะดำเนินการในส่วนของระบบอาวุธ โดยใช้ศักยภาพ และความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับเรือหลวงกระบี่ เป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งพาตนเองกับการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือต.991 และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือต.994 ที่ได้มีการขยายแบบเรือ และรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนมาถึงเรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกที่กองทัพเรือต่อขึ้นเอง ซึ่งในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีจำนวน 2 ลำ โดยลำแรกคือ เรือหลวงกระบี่อยู่ในงบประมาณระหว่างปี 2551 – 2554 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 2,931,285,884 บาท และในลำที่สองในงบประมาณระหว่างปี 2559 – 2561 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 5,482 ล้านบาท สำหรับรายละเอียดงบประมาณของเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย

1. งบประมาณที่ใช้ในการซื้อแบบเรือ และพัสดุสำหรับสร้างเรือ ซึ่งรวมถึงเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ เครื่องมือ ส่วนสนับสนุน สายไฟ และสายสัญญาณที่ใช้กับอุปกรณ์ที่กองทัพเรือเป็นผู้จัดหา รวมถึงการบริการทางเทคนิคในการออกแบบ ติดตั้ง เชื่อมต่อ การตรวจรับ การทดสอบทดลองอุปกรณ์ การฝึกอบรมการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง รวมเอกสารคู่มือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือในสาขาต่าง ๆ ตามแบบเรือ การประกันภัย และการขนส่ง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเงิน 2,832,930,000 บาท

2. งบประมาณที่ใช้ในการจัดหาระบบควบคุม ระบบอาวุธ และการบริหารโครงการ เป็นเงิน 2,650 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559–2561 แยกเป็นการจัดหาระบบควบคุมบังคับบัญชา และตรวจการณ์ วงเงิน 1,400 ล้านบาท จัดหาระบบปืนหลัก (ปืน 76/62 มิลลิเมตร) 370 ล้านบาท จัดหาระบบปืนรอง (ปืนกล 30 มิลลิเมตร) วงเงิน 150 ล้านบาท จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น วงเงิน 360 ล้านบาท และการบริหารโครงการ และฝึกอบรม วงเงิน 370 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของความแตกต่างระหว่างเรือหลวงกระบี่ กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ คือ เพิ่มขีดความสามารถของดาดฟ้าบินให้สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบซีฮอว์คได้, การติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบฮาร์พูน รวมถึงการปรับปรุงห้องต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของการต่อเรือนั้น ใช้การต่อแบบ Block Construction แทนการต่อแบบเดิมที่ต้องเริ่มจากการวางกระดูกงูเรือ โดยประกอบ 17 บล็อคใหญ่ 31 บล็อคย่อย ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วค่อยนำมาประกอบในอู่แห้ง โดยได้ดำเนินการสร้างเรือที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช

คุณลักษณะทั่วไปของเรือ
– เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ (ก่อนหน้าเรือหลวงตรัง)
– หมายเลขเรือ 552
– คำขวัญประจำเรือ “ด่านหน้า กล้าหาญ”
– สังกัดหมวดเรือที่ 1 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ
– วางกระดูกงู 23 มิถุนายน 2560
– ปล่อยลงน้ำ 2 สิงหาคม 2562
– ขึ้นระวางประจำการ 27 กันยายน 2562
– ความยาวตลอดลำ 90.5 เมตร
– ความกว้าง 13.5 เมตร
– ความยาวที่แนวน้ำ 83 เมตร
– กินน้ำลึก 3.7 เมตร
– ระวางขับน้ำ 1,960 ตัน เต็มที่ 2,200 ตัน
– เครื่องยนต์แบบ MAN Diesel 16V 23/33D ให้กำลังเครื่องละ 7,200 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ให้กำลังรวม 14,400 กิโลวัตต์ (10,950HP)
– ความเร็วสูงสุด 23 นอต (42.59 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
– ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ทะเล (6,482 กิโลเมตร) ที่ความเร็ว 15 นอต
– ปฏิบัติการได้ในสภาวะทะเลระดับ Sea State 5 หรือคลื่นสูง 2.5 – 4 เมตร
– รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11.5 ตัน ได้ 1 ลำ ซึ่งสามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ทุกแบบที่มีประจำการอยู่ในกองทัพเรือไทย

ระบบอาวุธประจำเรือ
– ปืนใหญ่เรือแบบ OTO Melara Super Rapid Multifeed  ขนาด 76 มิลลิเมตร/ 62 คาลิเบอร์ ป้อมทรง Stealth จำนวน 1 กระบอก อัตราการยิง 120 นัดต่อนาที ระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตร เมื่อใช้กระสุน VULCANO
– ปืนกลแบบ MSI-DS30MR SEAHAWK ขนาด 30 มิลลิเมตร แท่นเดี่ยว ติดตั้งปืนกลแบบ Mk44 Bushmaster II จำนวน 2 กระบอก อัตราการยิง 200 นัดต่อนาที ระยะยิงไกลสุด 8.8 กิโลเมตร
– ปืนกลแบบ M2 Browning ขนาด 0.50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก
– แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีแบบ Advanced Harpoon Weapon Control System จำนวน 1 ระบบ จำนวน 2 แท่น ๆ ละ 4 ท่อยิง รวม 8 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นต่อต้านเรือแบบ Boeing RGM-84L Harpoon Block II ระยะยิงไกลสุด 124 กิโลเมตร
– ระบบสร้างคลื่นความถี่สูงแบบ LRAD 1000Xi ที่กราบเรือทั้ง 2 ข้าง สามารถส่งคลื่นเสียงได้ไกลสุด 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการแจ้งเตือน การประชาสัมพันธ์กับกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อแสดงเจตนาที่ชัดเจนในการสื่อสาร

ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการสื่อสารของเรือ
– ระบบควบคุมบังคับบัญชา และตรวจการณ์แบบ Thales Nederland B.V. จำนวน 1 ระบบ
– ระบบอำนวยการรบแบบ Thales TACTICOS  Baseline 2
– เรดาร์ตรวจการณ์ระยะปานกลาง 2 มิติแบบ Thales VARINT สามารถตรวจจับเป้าทางอากาศได้ที่ระยะ 120 กิโลเมตร และตรวจจับเป้าทางผิวน้ำได้ที่ระยะ 70 กิโลเมตร และติดตามเป้าทางอากาศและผิวน้ำได้อย่างละ 200 เป้า
– เรดาร์ควบคุมการยิงแบบ Thales STIR 1.2 EO MKII ระยะตรวจจับ I-band 120 กิโลเมตร และ K-band 36 กิโลเมตร – ระบบเรดาร์แบบ VIGILE 100S MK2 สำหรับดักรับการแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่เรดาร์ 2-18 GHz
– เรดาร์นำทางแบบ Thales Scout
– เรดาร์เดินเรือแบบ Northrop Grumman Sperry Marine
– ระบบพิสูจน์ฝ่าย (IFF) แบบ TSB2525
– ระบบนำทางเฉื่อยแบบ Safran Sigma 40
– ระบบช่วยเดินอากาศทางยุทธวิธีแบบ TACAN 553 สามารถให้ข้อมูลแบริ่ง ระยะทาง และตัวตนของอากาศยาน ครอบคลุมในระยะ 230 ไมล์ทะเล (425.96 กิโลเมตร)
– ระบบสงครามอิเล็กทรอนิคส์ ESM
– ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) แบบ Link Y Mk. ll และ Link RTN
– กล้องตรวจการณ์ระยะไกลแบบ L3HARRIS WESCAM MX10-MS สำหรับพิสูจน์เป้าหมายต่าง ๆ ช่วยในการตัดสินใจ บันทึกภาพเหตุการณ์ ค้นหาผู้ประสบภัยทางทะเล วางแผนทางยุทธการ และแยกแยะเป้าหมายในการใช้อาวุธ
– แท่นยิงเป้าลวงแบบ Terma Decoy DL-12T C Guard จำนวน 2 แท่น แท่นละ 6 ท่อยิง รวม 12 ท่อยิง สำหรับป้องกันเรือจากการโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี

ขีดความสามารถ (Combat Capability)
– สามารถออกปฏิบัติงานในทะเลอย่างต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม
– สามารถปฏิบัติการได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5)
– สามารถตรวจการณ์ และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้าและเป้าอากาศยานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
– สามารถโจมตีเป้าพื้นน้ำในระยะพ้นขอบฟ้าได้ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี
– สามารถป้องกันภัยทางอากาศในระยะประชิดได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ
– สามารถทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์โดยติดตั้งอุปกรณ์ ESM และออกแบบให้รองรับการติดตั้งเชื่อมต่อการใช้งานระบบเป้าลวงได้
– สามารถปฏิบัติงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่ต่ำกว่า 11.5 ตัน ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
– สามารถรองรับกำลังพลได้ไม่น้อยกว่า 115 นาย (กำลังพลประจำเรือ 99 นาย และปฏิบัติการทางอากาศ 16 นาย)

ตามแผนแล้ว กองทัพเรือไทย มีความต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำ ซึ่งปัจจุบันมีประจำการแล้วจำนวน 4 ลำ คือ
-เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานี ได้แก่ เรือหลวงปัตตานี (OPV-511) และเรือหลวงนราธิวาส (OPV-512) (ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการปรับปรุงเรือทั้ง 2 ลำ ด้วยงบประมาณราว ๆ 3 พันล้านบาท คาดว่าจะติดตั้งระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของเรือ)
-เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงกระบี่ ได้แก่ เรือหลวงกระบี่ (OPV-551) และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ (OPV-552)

ทำให้กองทัพเรือยังขาดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอีกจำนวน 2 ลำ ซึ่งมีข่าวออกมาว่าในปีงบประมาณ 2566 นี้ กองทัพเรือจะของบประมาณสำหรับการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ขึ้นภายในประเทศ จำนวน 1 ลำ

ปัจจุบัน เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเล การปฏิบัติการรบผิวน้ำ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บริเวณทัพเรือภาคที่ 3 ฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด

Credit : กองทัพเรือไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ