นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชนคนไทยทั่วทุกแห่งหน ทั้งในเรื่องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญ เพื่อควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุก เนื่องด้ว ยทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล อันมีคุณภาพไว้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยและด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทยในสถานะการณ์วิกฤตโรคระบาด โควิด-19 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึง ปี 2564 มาโดยลำดับ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก และเป็นกำลังใจให้กับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า เพื่อให้เราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ด้วยความรักและความสามัคคี ที่จะฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคทั้งหลาย เพื่อสามารถก้าวผ่านวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 นี้ไปด้วยกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นมูลค่ารวมกว่า 122,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE แบบใช้ซ้ำได้ผ่านมาตรฐาน จำนวน 200,000 ชุด ,ชุด PPE Silguard isolation Gown แบบสแตนดาร์ดผ่านมาตรฐาน จำนวน 400,000 ชุด ,ชุด PPE Silguard Coverall-Standard แบบคลุมทั้งตัว จำนวน 50,000 ชุด และชุด PPE Coverall Impervious แบบคลุมทั้งตัว จำนวน 50,000 ชุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เชิญถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้แก่ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจำนวนกว่า 130,000 ครัวเรือน ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 200,000 เม็ด เพื่อพระราชทานให้กับกรมราชทัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัล จำนวน 2 คัน รวมทั้งรถต่อพ่วงชีวนิรภัย จำนวน 6 คัน เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกภาคสนามในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมาย สามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายได้อย่างทันท่วงที เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง เป็นการจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรคให้แคบลง ส่งผลดีต่อการควบคุมโรคและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยส่วนรวม เพื่อส่งมอบให้แก่ส่วนราชการ นำไปใช้ประโยชน์ เป็นเสมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในการให้บริการตรวจคัดกรองแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ให้ได้เข้าถึงกระบวนการคัดกรอง เพื่อทำการแยกตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และนำมารักษาอย่างถูกวิธี ทำให้ผู้ติดเชื้อหายเป็นปกติ อีกทั้งไม่เป็นพาหะในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ที่สำคัญการตรวจคัดกรองจากรถคันดังกล่าว มีเทคโนโลยีตลอดจนอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถป้องกันและช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และประชาชนผู้เข้ารับบริการ รวมถึงยังทรงจัดหาและพระราชทานเครื่องช่วยหายใจ จำนวน147 เครื่อง ,เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 50 เครื่อง รวมทั้งหน้ากากอนามัย จำนวน 2 ล้านชิ้น ,แผ่นป้องกันใบหน้าหรือเฟซชีลด์ จำนวน 30,000 ชิ้น และชุดป้องกันการติดเชื้อโรคหรือชุดพีพีอี จำนวน 4,000 ชุดแก่บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน เพื่อนำไปใช้งานควบคู่กับ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยที่ได้พระราชทานไปแล้ว จำนวน 36 รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ภายในประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิค PCR มีห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมกับเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet) เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (real-time PCR) วิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง ตู้แช่แข็ง – 20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ไมโครปิเปต (micropipette) ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ด้วยสมรรถนะที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษของรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ จึงทำให้สามารถทราบผลการตรวจหาเชื้อได้ภายใน 3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องส่งผลกลับไปตรวจที่ศูนย์การแพทย์ หรือห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถตรวจได้ ประมาณ 800 – 1,000 ตัวอย่างต่อวัน จึงช่วยในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเครื่องมือทางการแพทย์และเวชภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมทั้งเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ ,เครื่องเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่ ,เครื่องกำจัดเชื้อโรคและฟอกอากาศ ,เครื่องช่วยกดหน้าอกเพื่อฟื้นคืนชีพ ,เครื่องมือช่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ ,รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน ทรงพระราชทานให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลรวม 123 แห่งทั่วประเทศ ในพื้นที่ที่มีอัตราการติดเชื้อสูง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ซึ่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี ออกแบบห้องตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาจากเทคโนโลยีของ SCG HEIM และ Living Solution ออกแบบให้เป็นห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้าออกตัวอาคาร มีระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศภายในให้สะอาด หลักการในการทำงานของห้องตรวจเชื้อคือการแยกแพทย์และผู้ที่มาตรวจออกจากกัน บุคลากรทางการแพทย์จะอยู่ในห้องความดันบวกที่ไม่มีอากาศจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องความดันลบซึ่งมีระบบดูดอากาศเสียออกไปกำจัดอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก ขณะที่การเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อเก็บตัวอย่าง หลังจากการใช้งานห้องตรวจจะใช้แสงยูวีเข้มข้นสูง ฆ่าเชื้อโรค (UV Germicide) ทุกครั้ง ห้องตรวจเชื้อนี้ได้รับการออกแบบให้ติดตั้งง่ายใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ
พระราชกรณียกิจข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า พระองค์ทรงเป็นดั่งฝนบนฟ้าหลั่งมาชโลมดิน ยังความชุ่มชื้นให้กับแผ่นดินโดยแท้ ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงยึดมั่นในพระปฏิญญา ทรงพระวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนสร้างสรรค์ความผาสุกแก่พสกนิกร นำความเจริญไพบูลย์และความมั่นคงมาสู่ประเทศ ยังประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ในทุกภูมิภาค จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญมีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน และทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดกาลนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
สัณพงศพร ผลพิทักษ์