“พรรณไม้พระราชทานนาม ความงดงามของดอกไม้ประจำถิ่น”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระราชหฤทัยและพระราชทานการสนับสนุนส่งเสริมงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด พระราชกรณียกิจสำคัญเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพรรณพืช นั้นมีมากมายไม่สามารถบรรยายได้หมด ด้วยความสนพระราชหฤทัยในด้านการอนุรักษ์พรรณพืชต่างๆ เมื่อมีการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ องค์กรที่เกี่ยวข้องจึงขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธยมาตั้งเป็นชื่อดอกไม้และพรรณไม้หลายชนิด เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นรวมถึงปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนหันมาอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติของประเทศไว้สืบไป
สำหรับในที่นี้ขอนำชื่อ “พรรณไม้พระราชทานนาม” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระราชทานนามชื่อดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ที่เกิดในทุ่งหญ้าป่าเขาตามธรรมชาติ บางชนิดเป็นไม้ประจำถิ่นหายาก และบางชนิดเป็นพรรณไม้ที่ทอดพระเนตรเห็นตามทางเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บางชนิดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่มีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม ได้แก่

ดุสิตา หรือชื่ออื่น ดอกขมิ้น หญ้าข้าวก่ำน้อย พันธุ์ไม้พระราชทานนาม จากทุ่งดอกไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นพืชกินแมลงล้มลุกขนาดเล็ก อายุหนึ่งปี ใบเดี่ยวดูคล้ายหญ้า รูปแถบแคบ สามารถสร้างถุงจับแมลงที่โคนต้น ดอกออกเป็นช่อตั้งแทงขึ้นจากโคนต้น สูง 5-25 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 3-5 ดอก สีม่วงเข้มอมน้ำเงิน ขนาด 0.6-1 เซนติเมตร ออกเรียงสลับ มีกลิ่นหอม ออกดอกเดือน สิงหาคม-มกราคม ผลแบนทรงรี ภายในมีเมล็ดสีดำอมน้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบความชื้นสูงและอากาศเย็น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ในธรรมชาติมักขึ้นรวมกันเป็นทุ่งบนลานหินและตามพื้นที่โล่งชุ่มชื้น กระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และทวีปออสเตรเลีย ประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

สร้อยสุวรรณา หรือชื่ออื่น หญ้าสีทอง, สาหร่ายดอกเหลือง, เหลืองพิศมร, หญ้าสีทอง พันธุ์ไม้พระราชทานนาม จากทุ่งดอกไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกอเล็กสูง 10-15 เซนติเมตร ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อตั้งจากโคนกอ ไหลและส่วนรากลักษณะคล้ายเส้นด้าย ใบเดี่ยวรูปแถบ เรียงเวียนรอบโคนต้น มีอวัยวะจับแมลงตามข้อของไหล รูปไตถึงรูปกลมขนาดเล็ก มี 3-7 ดอก ดอกย่อยสีเหลือง กลีบดอกขนาดไม่เท่ากัน ผลรูปรีแกมไข่ มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ขึ้นตามพื้นที่โล่งชุ่มน้ำ
พบที่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินโดนีเซีย ประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ทิพเกสร หรือชื่ออื่น หญ้าฝอยเล็ก พันธุ์ไม้พระราชทานนาม จากทุ่งดอกไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี พบขึ้นอยู่ตามบริเวณลานหินทรายน้ำขังและพื้นที่โล่งชุ่มน้ำ เป็นพืชกินแมลง สูง 10-30 เซนติเมตร ลำต้นเล็กมากอยู่ใต้ดิน เป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยวและมีใบที่เปลี่ยนเป็นถุงสำหรับดักจับแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร ดอกออกเป็นช่อ 1-3 ดอก ออกเรียงสลับ ดอกสีม่วงอ่อนแกมชมพู ต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ ประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามพื้นที่โล่งชุ่มชื้นตามแอ่งภูเขาหินทรายที่มีน้ำไหลรินในช่วงฤดูฝน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-1,500 เมตร ออกดอกช่วงเดือน กันยายน-ธันวาคม

มณีเทวา หรือชื่ออื่น หญ้าผมหงอก, หญ้ากระดุมเงิน, หญ้ากระดุม, หญ้าดอก, หญ้าหัวหงอก พันธุ์ไม้พระราชทานนาม จากทุ่งดอกไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี พบตามลานหินชุ่มน้ำ เป็นไม้ล้มลุก ลักษณะเป็นกอขนาดเล็กคล้ายหญ้า สูง 2-6 เซนติเมตร ใบรูปแถบ เรียงเป็นวงรอบโคนต้น ดอกออกเป็นช่อตั้งจากโคนกอ ก้านช่อดอกสูง 5-15 เซนติเมตร ดอกสีขาว ดอกเล็กอัดกันเป็นช่อทรงกลมเหมือนหัวแหวน ลักษณะเป็นก้อนกลมที่ปลายยอด ผลเป็นผลแห้ง รูปรี เมื่อแก่ไม่แตก ในประเทศไทยพบตามบริเวณที่ชุ่มชื้นในที่โล่ง หรือชายป่าโปร่งในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หลังฤดูเก็บเกี่ยวดอกจะบานขาวสะพรั่งเต็มท้องทุ่ง

สรัสจันทร หรือชื่ออื่น หญ้าแลไข่กา, จำปีบะ, ดอกดิน, กล้วยเล็บมือนาง, กล้วยมือนาง, หญ้าหนวดเสือ, เลื้อมนกเขา, หญ้านกเขา พันธุ์ไม้พระราชทานนาม จากทุ่งดอกไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กสูง 10-30 เซนติเมตร ลำต้นเล็กเรียวเป็นแกนบอบบาง ใบเดี่ยว เรียงสลับกระจุกที่โคนต้นแบบกุหลาบซ้อนรูปแถบหรือรูปใบหอก ฐานใบสอบ ขอบใบเรียบ ดอกสีชมพู จนถึงสีม่วงอมฟ้า ที่ปลายดอกมีสีเหลืองหรือสีครีม ดอกย่อย 2-6 ดอก ออกที่ปลายยอด กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ในประเทศไทยพบบริเวณป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้าริมหนองน้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำและบริเวณชายป่าโปร่ง ผลแห้งรูปไข่มีเมล็ดจำนวนมากไม่แตกเมื่อแก่ ออกดอกช่วงเดือน กันยายน-ธันวาคม จัดเป็นพืชหายาก

นิมมานรดี หรือชื่ออื่น เอื้องผีพราย, เอื้องนิ่ม พันธุ์ไม้พระราชทานนาม ณ บริเวณโคกนกกะบา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปทรงกระบอก ใบอวบน้ำรูปขอบขนานแกมรี ออกดอกเป็นช่อยาว 12-15 เซนติเมตร ก้านดอกมีขนนุ่มสีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาวอมเขียวปนเหลืองอ่อน กลีบดอกรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ยาว 8-9 มิลลิเมตร มีขีดตามยาวสีแดงเข้ม กลีบปากที่ปลายมีพื้นสีเหลืองเข้มและมีแต้มสีแดงเข้มที่โคนกลีบ ผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 3 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น พบในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนปาล ภูฏาน พม่า จีนตอนใต้ ไต้หวัน และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบเขา ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000-2,000 เมตร

ความงดงามอันทรงคุณค่าของบุปผาพรรณไม้ใดๆ ยังเทียบไม่ได้กับพระราชจริยาวัตรที่ทรงพระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเปี่ยมล้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่ออาณาประชาราษฎร์ อย่างหาที่สุดมิได้ ถือได้ว่าเป็นบุญของผู้ที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา12 สิงหาคม 2565 ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนานด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
สัณพงศพร ผลพิทักษ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ