วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมพิจารณาควบคุม การครอบครอง การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พลตำรวจโท ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร ผู้แทนกรมสุขภาพจิต นายยุธยา จีนหีต ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และข้าราชการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ได้เกิดพฤติกรรมการข่มเหง ทำร้ายชาวบ้าน รวมถึงการครอบครอบอาวุธปืน การใช้อาวุธปืนที่ขัดต่อกฎหมาย ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็มีเรื่องที่สืบเนื่องมาทั้งการกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู ลูกน้องกำนันในพื้นที่จังหวัดนครปฐมยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ และล่าสุด คือ เหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล การครอบครองและพกพาอาวุธปืนให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม และขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีทางที่จะผ่อนปรนเรื่องนี้อีกต่อไป
“สำหรับมาตรการระยะสั้นที่ได้หารือในวันนี้ กรมการปกครองได้นำเสนอมาตรการ ได้แก่ 1) ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด และอธิบดีกรมการปกครองใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด (สำหรับผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม) และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก 2) ให้ผู้ครอบครองแบลงค์ กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่ 3) ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด 4) ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบ ทั่วประเทศ โดย 1. ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ 2. อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ 3. ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด 4. กวดขัน ตรวจสอบสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน 5) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว 6) อนุญาตโครงการอาวุธปืนสวัสดิการสำหรับข้าราชการคนละ 1 กระบอกเท่านั้น และห้ามนำไปจำหน่ายหรือโอนต่อให้กับประชาชนหรือผู้อื่น 7) ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และ 8 ) ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี/บช.สอท. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปรามและปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน ให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน” นายอนุทินฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้กรมการปกครองและส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งนำเสนอแนวทางการควบคุม การครอบครอง การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน เพิ่มเติมภายหลังจากการประชุมในวันนี้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า เราต้องควบคุมให้มากที่สุด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน
ด้านนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบในหลักการกำหนดมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติดที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนโดยเร็ว ซึ่งกรมการปกครองได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติดังกล่าว อาทิ การสำรวจภารกิจและการออกใบรับรองของข้าราชการที่ขอใบอนุญาตอย่างเข้มงวด กวดขัน รัดกุม และกำชับการปฏิบัติสถานยิงปืนของสมาคมยิงปืน นอกจากนี้ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลการขอรับใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจข้อมูลการอนุญาตของนายทะเบียนกรมการปกครองได้
“นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กรมการปกครองได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลนำอาวุธปืนที่ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายนำอาวุธปืนมาขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือนำอาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตได้ตามกฎหมายมาส่งมอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องรับโทษ รวมทั้งเพื่อจัดเก็บอัตลักษณ์และรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืน อันจะส่งผลให้ปริมาณอาวุธปืนที่ไม่ถูกกฎหมายลดน้อยลง สามารถตรวจสอบได้ สามารถควบคุมตรวจสอบ กำกับและติดตาม การมีและใช้อาวุธปืนเหล่านี้ได้ ตลอดจนป้องกันการนำอาวุธปืนไปใช้ก่ออาชญากรรม ซึ่งอยู๋ในชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จึงทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะได้นำความเห็นจากการประชุมหารือในวันนี้ และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีมาประกอบการปรับแก้ไขร่างกฎหมายเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป” นายอรรษิษฐ์ฯ