วันที่ 16 ม.ค.67 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านชุมชนสะพานปลาจังหวัดชุมพร พร้อมมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานขององค์การสะพานปลา (อสป.) โดยมี นายวรัตม์ มาประณีต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดชุมพร นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการ อสป. ผู้บริหารและพนักงาน อสป. ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน เข้าร่วม ณ ท่าเทียบเรือประมงชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร
นายอนุชา เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยการส่งเสริมอาชีพประมงและเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ สำหรับตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองชุมพร ถือเป็นชุมชนประมงที่สำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากอาชีพชาวประมงถือเป็นอาชีพดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนและสร้างความเป็นอยู่ของพี่น้องให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อให้พี่น้องที่ประกอบอาชีพประมง ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้มอบแนวทางให้ อสป. เตรียมประกาศลดอัตราค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำผ่านท่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเพื่อมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้กับชาวประมงทั่วประเทศต่อไป
นายอนุชา ยังเผยถึงผลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา กรณีชาวบ้านชุมชนสะพานปลาจังหวัดชุมพรได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ว่า ได้รับผลกระทบจากการเก็บค่าเช่าและสัญญาจาก อสป. นั้น ขณะนี้ ได้รับรายงานว่าข้อร้องเรียนต่างๆ อสป. ได้ดำเนินการเร่งรัดแก้ไขจนถูกนำไปสู่ข้อยุติแล้ว ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. สำหรับพื้นที่ของท่าเทียบเรือประมงชุมพรดังกล่าว เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ให้พี่น้องประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจังหวัดได้มอบให้ อสป. รับผิดชอบนั้น อสป. ดำเนินการยุติการเก็บค่าเช่าอาคารพาณิชย์ ค่าเช่าที่ดินต่างๆ ทั้งหมด และผู้เช่ารายใดที่มีการบอกเลิกสัญญาและมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้เพื่อผ่อนชำระหนี้ จะดำเนินการยุติหนี้ทันที
2. อสป. ได้เร่งรัดดำเนินการส่งคืนพื้นที่อาคารพาณิชย์และที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บริเวณท่าเทียบเรือประมงชุมพร และส่งมอบให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ จากพื้นที่เดิม 140 ไร่ เหลือเพียงใช้ประโยชน์ตามภารกิจ ประมาณ 30 ไร่ สำหรับดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับท่าเทียบเรือประมง ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 โดย อสป. จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำ และอื่นๆ ตามประกาศของ อสป. ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกรมที่ดิน ถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์ (ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) ต่อไป
ทั้งนี้ อสป. เริ่มเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือประมงชุมพร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2528 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมอาชีพประมงและแก้ปัญหาความเดือดร้อนในสถานที่จอดเรือประมง ขนถ่ายสัตว์น้้า และเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีระบบติดตามควบคุมกำกับดูแลคุณภาพสัตว์น้ำและสุขอนามัยของท่าเทียบเรือประมง และเป็นท่าเทียบเรือประมงที่ได้รับการตรวจประเมินสุขลักษณะท่าเทียบเรือประมง โดยกรมประมงปีละ 2 ครั้ง และได้รับการรับรองให้เป็นท่าเทียบเรือประมงสุขอนามัยเมื่อปี 2553 เป็นต้นมา
ธนากร โกศลเมธี รายงาน 0818923514