การทำบุญมี ๑๐ กระบวนท่า

มีโอกาสก็มาร่วมกิจกรรม มาเอาบุญ ที่เรามานิมาเติบบุญ เติมบุญทาน เติบบุญศีล เติมบุญภาวนา บุญมันมีอยู่ทั้งหมด ๑๐ กระบวนท่าการทำบุญมี ๑๐ กระบวนท่า

๑ ให้ทาน เรียกว่า ทานมัย บุญเกิดขึ้นเพราะการให้ ให้วัตถุสิ่งของ
ให้ของเครื่องใช้ให้ของอยู่ของกิน ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ความรู้ให้ข้อคิด หรือว่าให้สิ่งที่ดี ๆ ถือว่าเป็นบุญทั้งนั้นแหละ หรือเราพูดดี ๆ เดินดี ๆ คนเห็นก็พอใจเลื่อมใส ก็เป็นบุญนะ
ถ้าเดินแบบนักเลง แม๊ะ….เห็นแล้วหมั่นไส้ไม่ได้บุญแหละ ถ้าเห็นแล้วดีใจสบายใจเขาเรียกว่าเราเป็นต้นตอทำให้เกิดบุญเขาเรียกว่าให้ความสบาย ความสุขใจ

๒ ศีล รักษากายวาจาไม่ให้ไปล่วงเกินคนอื่น สัตว์อื่นมีศีลเป็นปกติ สมาทานทุกวันศีล ตื่นขึ้นมาเช้า สมาทานศีล แผ่เมตตา วันนี้เราจะไม่เบียดเบียนใคร เราจะไม่ลักขโมยของใคร เราจะไม่นอกใจใคร เราจะไม่พูดคำหยาบคำสอเสียดคำเพ้อเจ้อไม่พูดคำเท็จวันนี้ตั้งใจจะไม่ดื่มสุรายาเสพติด เครื่องดองของเมา จะไม่สูบบุหรี่กัญชา จะไม่เคี้ยวกระท่อม ตั้งใจ พอตั้งใจแล้วทีนี้ก็เป็นศีลขึ้นมา ใบกระท่อมผิดศีลนะอย่าไปเคี้ยวนะ พระไปเคี้ยวไม่ได้นะ อย่าไปเคี้ยวพระ ไปเคี้ยวใบกระท่อมผิดศีลนะถือว่าเป็นของมึนเมาไม่อนุญาติ พระวินัย ไม่อนุญาตยกเว้นป่วย มันทำท่าป่วยเคี้ยวกระท่อมเล่นอยู่เรื่อยแหละ
ไป ๆ มา ๆ ก็มาปรุงเป็นอย่างอื่น มาต้มมาโขกมากรอกมาผสมน้ำโน้นนี่ ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นน้ำเมา มันไม่ใช่ของดี เปิดทางให้อบายมุข เข้ามาแทรกแซงเข้ามาในร่างกาย เป็นความคิดที่ต่ำไม่ใช่ความคิดที่สูง เป็นความคิดที่ต่ำ เรียกว่าจิตเสื่อมมันทำให้จิตเสื่อม เสพยาเสพติดก็ทำให้จิตเสื่อม ดื่มของมึนเมาก็ทำให้จิตเสื่อม ถ้าเป็นพระท่านก็ให้ปรับอาบัติปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์ แปลว่าจิตเสื่อม อันไหนที่ท่านปรับอาบัติปาจิตตีย์แสดงว่า จิตเสื่อมคนละเมิดเป็นคนจิตเสื่อม

๓ ภาวนามัย บุญเกิดขึ้นจากการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์เหล่านี้เป็นบุญทั้งนั้นแหละ เป็นบุญต่อจิตใจด้วยต่อสุขภาพร่างกายด้วย ต่อครอบครัวด้วย ต่อสังคม ต่อประเทศชาติบ้านเมือง หรือต่อโลกนู้นละ ภาวนานิ มันคลุมไปถึงสวรรค์ถึงนิพพานโน้นนะ ภาวนานิ ส่งผลไปถึงสวรรค์ส่งผลไปถึงพระนิพพาน อันนี้กระบวนท่าที่ ๓

๔ อปจายนมัย ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ อปจายน แปลว่าอ่อนน้อมถ่อมตนมีสัมมาคารวะ ไม่ขาดความเคารพต่อพ่อ ต่อแม่ ต่อครูอาจารย์ ต่อผู้หลักผู้ใหญ่ มีสัมมาคารวะเขาเรียกอปจายนมัยก็เป็นบุญ

๕ ไวยาวัจจมัย ขวนขวายในทางที่ดี ชักชวนกันไปทำดี ชักชวนกันไปไหว้พระ ชักชวนไปสวดมนต์ ชักชวนไปค้าขายในทางสุจริต ชักชวนไปช่วยเหลือตรงนั้นตรงนี้เมื่อมีเหตุขัดข้องด้วยกันเรียกว่าจิตอาสาแหละ ไวยาวัจจมัย ขวนขวายขวนขวายในทางที่ดี ขวนขวายเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี ๆ ชักชวนกัน พูดคุยกันในทางที่ดีแม้แต่เขียนก็เขียนหนังสือเพื่อให้ปลุกเร้าจิตใจให้คิดทำพูดในทางที่ดี ท่านเรียกว่าขวนขวายเพื่อให้เกิดประโยชน์เรียกว่า ไวยาวัจจมัย

๖ ปัตติทานมัย ให้ส่วนบุญ อันลักษณะนี้ท่านอาจจะมองไปถึงว่า
จิตวิญญาณน้อยใหญ่ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรา พ่อแม่ที่ล่วงลับไป ปู่ย่าตาทวดที่ล่วงลับไป หรือบรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปลงเมือง ที่ล่วงลับไปเกี่ยวเนื่องกับเราทั้งหมดแหละที่เราได้อาศัยพื้นแผ่นดิน ได้อาศัยสมบัติข้าวของเงินทองมรดกตกทอดมา รวมไปถึงร่างกายของเรานิ
ได้มาเพราะปู่ย่าตาทวด หรือคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้แบ่งให้ ฉะนั้นเราต้องปัตติทานมัย ทำดีที่ไหน ๆ สวดมนต์เสร็จแผ่เมตตา แผ่ส่วนบุญให้ทานเสร็จก็แผ่ส่วนบุญ รักษาศีลเสร็จก็แผ่ส่วนบุญภาวนาเสร็จก็แผ่ส่วนบุญ อันนี้มันเป็นบุญที่สามารถทำได้ทุกหนทุกแห่ง

๗ อนุโมทนามัย คอยอนุโมทนาบุญกุศลที่เห็นเขาทำดี เขาพูดดี เห็นเขาแสดงอากัปกิริยาที่ดีงามไปทำประโยชน์นู้นนี่ เราก็พลอยยินดีไปกับเขาไปด้วยเรียกว่าอนุโมทนา เรียกว่าพลอยยินดีตามยินดีอนุโมทนาก็เป็นบุญเกิดขึ้นกับจิตใจของเรา

๘ ธรรมสวนมัย ฟังสิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่ไม่ดีปิด ปิดเลย ฟังแต่สิ่งที่ดี ๆ ที่เป็นธรรม ธรรมสวน แปลว่าฟังธรรม ไม่ได้หมายถึงว่ามานั่งพนมมือฟังเทศน์ ให้พระขึ้นธรรมาสน์เทศน์นะไม่ใช่อย่างงั้นนะคำว่าธรรมสวน หมายถึงคำพูดที่ดี ๆ ที่เราฟังแล้วมันก่อให้เกิด ฉันทะ,วิริยะ,จิตตะ,วิมังสา เกิดความขยัน เกิดความหนักแน่นอดทน เกิดความคิดปลุกเร้าสร้างสรรค์ในทางที่ดี อันนี้เรียกว่าหาฟังสิ่งที่มันเป็นมงคล
เป็นมงคลกับโสตประสาท เป็นมงคลกับหู เรียกว่าธรรมสวนมัย

๙ ธรรมเทศนามัย คือการพูดการแสดงเทศนาแปลว่าแสดง
แสดงสิ่งที่เป็นอรรถเป็นธรรมเขียนหนังสือก็ให้เป็นไปในทางธรรม
พูดก็ให้เป็นธรรมะ การแสดงออกทางกายวาจา เป็นธรรมะ นี่เรียกว่าการแสดงกาย กราบพระสวย ๆ ใช่ไหม กราบพระสวย ๆ เดินเรียบร้อย แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามอันนี้เป็นการแสดงทั้งหมดแหละ
แสดงให้เขาเกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ดี ไม่ได้ก่อให้เขาเกิดราคะโทสะโมหะ ท่านเรียกว่าธรรมเทศนา และสุดท้าย…

๑๐ ทิฎฐุชุกรรม จงมีความเห็นฝึกฝนอบรมใจของเราให้ชินอยู่กับธรรมะ ตรงอยู่กับธรรมะให้สม่ำเสมอ ถ้าเราฝึกมันมาเรื่อย ๆ เหมือนกับฝึกเด็กนิ ฝึกให้เข้าหา หรือฝึกให้เอาอย่าง พ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง พี่เพื่อนทำเป็นตัวอย่าง เด็กก็เอาอย่างก็เป็นการฝึกไปในทางอ้อมไม่ได้บังคับ แต่ว่าเด็กเกิดฉันทะ คือพอใจขึ้นมาเอง อยากจะทำด้วยตัวของตัวเอง ในทางที่ดีที่เห็นเป็นตัวอย่างมา คำพูดก็เอาตัวอย่างจากพ่อจากแม่ อากัปกิริยาก็เอาตัวอย่างจากพ่อจากแม่ หรือแม้ความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นผู้ฝึกฝนอบรมให้เขาทำให้เขาคิดอันนี้ก็เรียกว่าทำความเห็นให้ตรงตามธรรมเคารพกฎกติการะเบียบบ้านเมือง หรือหลักของศีลของธรรม วัฒนธรรม ประเพณี
จารีตอันดีงามต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าเห็นผิดเพี้ยนไปจากจารีตประเพณีวัฒนธรรมศีลธรรมกฎหมายแล้ว ถือว่าผิดปกติ จิตนั้นจะเป็นจิตวิปริต จิตนั้นจะเป็นจิตมีมิจฉาทิฎฐิ ไม่ใช่ตรงตามธรรม อันนี้แหละคือกระบวนการทำบุญ ๑๐ อย่างที่พระพุทธเจ้าวางไว้

ท่านทั้งหลายสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ทุกกาลสถานที่เป็นบุญเกิดขึ้น กับจิตกับชีวิตของตน ของตน เมื่อมีบุญแล้วก็สบายนิ มีบุญแล้วก็สบายนะ ฉะนั้นบุญจึงเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต

ธรรมะก่อนฉัน…
หลวงพ่อพระมหาประกอบ ธัมมชีโว ณ วัดป่ามหาไชย สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสมุทรสาคร (ธรรมยุต) แห่งที่ ๑ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มิ.ย. 65 น.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ