วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีทำลายของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้วและพิธีส่งมอบของกลางสารทำความเย็นที่คดีถึงที่สุดแล้วไปทำลาย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 39 ล้านบาท โดยมีนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายนิติ วิทยาเต็ม รองอธิบดีกรมศุลกากร นายวรพัฒน์ เชาว์วิศิษฐ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร ร่วมด้วย นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และนางสาวเขมะศิริ นิชชากร ผู้อำนวยการกองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมพิธีดังกล่าว ณ ห้องโถง อาคาร 1 กรมศุลกากร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าประเภทอื่น ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อรักษากลไกทางการตลาด และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปราม ผู้กระทำความผิดในการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้าสินค้าดังกล่าว อีกทั้ง ยังเน้นให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับในวันนี้ กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้รวบรวมของกลางในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า รวมไปถึงของกลางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สารทำความเย็นหรือสารฟลูออโรคาร์บอน (FCs) ที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และอื่น ๆ โดยรวมของกลางทั้งสิ้น 1,093,000 ชิ้น และของกลางสารทำความเย็น 4,500 ถัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 39 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการทางคดีได้ถึงที่สุดและของกลางตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายแล้ว กรมศุลกากร มีกำหนดการนำของกลางดังกล่าวไปทำลายโดยวิธีการเผาทำลาย ณ โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และทุบทำลายโดยใช้รถบด ณ บริษัท โกลเด้นดีพ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2567
สำหรับของกลางประเภทสารฟลูออโรคาร์บอน (FCs) นั้น กรมศุลกากรมีกำหนดการนำของกลางดังกล่าวไปทำลายด้วยวิธีการเผา โดยใช้เตาเผาแบบ Fluidized Bed ณ บริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด (BPEC) ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (WMS) โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบสารฟลูออโรคาร์บอน (FCs) ไปทำลายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 นี้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะกำกับดูแลการทำลายของกลางดังกล่าวต่อไป
cr.เสาร์แก้ว คำพิวงค์ ผู้สื่อข่าวภาค สนามรายงาน