ชุมพร – วัน Kick Off สร้างมูลค่าลดปัญหาของเน่าเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 9 กันยายน 2567นายธนนท์ พรรพีภาส รอง ผวจ.ชุมพร เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิตทุเรียน ประกาศวัน Kick Off สร้างมูลค่าเปลือกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของสำนักงานเกษตร จ.ชุมพร กับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร และ วิสาหกิจชุมชนหลังสวนพัฒนายั่งยืน ตำบลนาขา อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพร จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมเผยแพร่ผลงานการวิจัยและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียน และมีการเสวนา หัวข้อ “การจัดการเปลือกทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชุมพร” “การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสร้างมูลค่าเปลือกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”จากวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษา  โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้สนใจ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า  การจัดงาน”วัน Kick Off สร้างมูลค่าเปลือกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เนื่องจากจังหวัดชุมพรและอีก 13 จังหวัดภาคใต้ มีพื้นที่การปลูกทุเรียน รวมประมาณ 814,414 ไร่  ผลผลิต 526,005 ตัน จังหวัดชุมพรเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตที่สำคัญ  ซึ่งมีแหล่งรวบรวม(ล้ง) ปัจจุบันมีกว่า 400  แหล่ง  จังหวัดชุมพร มีผลผลิตทุเรียน   จำนวน 250,115 ตัน หากคำนวณด้วยสัดส่วนทุเรียน 1 ผล ประกอบด้วยเปลือก 58.56 เปอร์เซ็นต์ เนื้อ 28.51 เปอร์เซ็นต์และเมล็ด 12.93 เปอร์เซ็นต์  จะมีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งประมาณ 146,467.34 ตัน    มีเนื้อ 71,307.79 ตัน และเมล็ด  32,339.87  ตัน
โดยเป็นเปลือกทุเรียนจากโรงงานแปรรูปทุเรียนแช่แข็งหรือทุเรียนฟรีซดราย จำนวน 25 โรงงาน ประมาณการเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง จำนวน 42,848 ตันต่อปี ที่เป็นขยะในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาของเน่าเสียส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม เกิดการระบาด และการสะสมของศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมี  การรณรงค์การใช้เปลือกทุเรียนให้มีประโยชน์และลดปัญหาการกำจัดขยะ   ภายใต้โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ  การจัดการวัสดุเหลือใช้จากการผลิตทุเรียน โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย  หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องที่ท้องถิ่น เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน สมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปทุเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร  

ด้านนายธนนท์ พรรพีภาส รอง ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า ทุเรียนเป็นไม้ผลเศรษฐกิจถือเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อภาคเกษตรไทย   เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นำรายได้เข้าสู่ประเทศจากการส่งออกไปตลาดต่างประเทศช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผลผลิตทุเรียนโดยเฉพาะทุเรียนผลสดถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ปี 2566 มีการส่งออกทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ 1,094,360 ตัน มีมูลค่า 164,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2565  ที่มีปริมาณ 916,851 ตัน มีมูลค่า 125,819 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.36 และ ร้อยละ 30.52 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 95 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมด

จังหวัดชุมพรเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการปลูกทุเรียนอย่างมาก ด้วยสภาพดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกทุเรียน ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นอันดับ 1    ของภาคใต้ โดยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนในปี 2567 ทั้งสิ้น 327,793 ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตแล้ว 288,672 ไร่ คาดการณ์ผลผลิต ประมาณ 250,115 ตัน และยังเป็นแหล่งรวบรวมทุเรียนจากทั่วประเทศเพื่อการส่งออกทุเรียนผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก ซึ่งตลาดที่สำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง เวียดนาม และมาเลเซียมูลค่าการส่งออกทุเรียนของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโต เพื่อให้การผลิตสอดคล้องกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภค การแปรรูปจากผลสดเป็นทุเรียนแช่แข็งจึงเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มีประมาณการเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง จำนวน 42,848 ตันต่อปี ที่เป็นขยะในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาของเน่าเสียส่งผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการระบาดและการสะสมของศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น

จังหวัดชุมพรเห็นความสำคัญของปัญหาเปลือกทุเรียนเป็นอย่างมาก   จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น และกลุ่มเกษตรกร นำเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากเปลือกทุเรียน  มาถ่ายทอดให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อลดปัญหาที่จะกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยับยั้งการระบาดของศัตรูพืช และคาดหวัง“วัน Kick Off สร้างมูลค่าเปลือกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ ได้รับรู้ถึงผลงานการวิจัยและนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเปลือกทุเรียน สามารถทำให้เห็นความสำคัญถึงการนำเปลือกทุเรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่า สร้างรายได้ ลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตร อุตสาหกรรมต่อไป

ในขณะ ว่าที่ ร้อยตรี ขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ นักวิชาการเกษตรสังกัดงานบริการวิชาการและวิจัย มหา วิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร เปิดเผยว่า สำหรับการจัดงาน Kick Off  ในวันนี้ ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาเปลือกทุเรียนที่อยู่มีอยู่จำนวนมาก ในจังหวัดชุมพร ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมการส่งออกเนื้อทุเรียนไปยังต่างประเทศ เปลือกที่เหลือไม่มีการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำเสียและมลพิษทางอากาศ ทางมหาวิทยาลับแม่โจ้-ชุมพร จึงได้มีแนวคิดว่าควรนำเปลือกทุเรียนมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิศวกรรมแม่โจ้1ด้วยวิธีไม่ต้องพลิกกลับกองเพียงใช้เวลา 2 เดือนก็สามารถนำเปลือกทุเรียนที่หมักจนกลายสภาพเป็นปุ๋ยอินทรีย์ดีๆซึ่งเต็มไปด้วยธาตุอาหาร ทั้งไนโตรเจน (N)ฟอสฟอรัส (P)โพแทสเซียม (K) ตรงตามความต้องการของพืชทุกชนิดตามมาตรฐานไม่แพ้ปุ๋ยเคมี และที่สำคัญเกษตรกรสามารถทำเองเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย

ว่าที่ ร้อยตรี ขจรรักษ์ พู่พัฒนศิลป์ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนในการทำปุ๋ยจากเปลือกทุเรียน ก็ไม่ยุ่งยากมาก มีเพียงมูลสัตว์ ซึ่งในมูลสัตว์มีจุลินทรีย์และไนโตรเจน  เปลือกทุเรียนที่ต้องการทำปุ๋ย  นำมากองแล้วโรยผสมมูลสัตว์ลงไป ซึ่งถ้าให้ย่อยสลายเร็วขึ้นก็ต้องฉีดน้ำทุกวันพอชุ่ม แล้วรอให้ธรรมชาติดำเนินการต่อ เพื่อให้อากาศ เมื่อจุลินทรีในมูลสัตว์ไปเจอกับคาร์บอนในเปลือกทุเรียนแล้วมีความชื้นและมีธาตุไนโตรเจนในเปลือกทุเรียนเช่นกัน มีน้ำ มีอากาศเข้าไปจะทำให้เปลือกทุเรียนย่อยสลายได้ดีขึ้นมาก และที่สำคัญไม่มีกลิ่นเหม็น และที่สำคัญหากทำเยอะๆก็ควรจะทำบนพื้นปูน เพราะความร้อนจากพื้นปูนจะทำให้หมอนตายไป  เพียง 2 เดือน ก็นำมาใช้ได้แล้ว สะดวกง่าย 

เอกชนะ นวนละมัย ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชุมพร 098-9515199

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ