เรื่องไม่ลับฉบับนักวิจัย

กระทิง (𝘉𝘰𝘴 𝘨𝘢𝘶𝘳𝘶𝘴) เป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทั้งด้านการรักษาระบบนิเวศในพื้นที่และด้านการเป็นชนิดเหยื่อที่สำคัญของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ (Karanth and Sunquist, 1995; Roininen et al., 2007; Sankar et al., 2013) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สถานภาพกระทิงทั่วโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) โดยมีจำนวนประชากรทั่วโลกประมาณ 13,000–30,000 ตัว และประชากรของกระทิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย (Duckworth et al., 2016)

ประเทศไทยในอดีตเคยพบกระทิงได้ทั่วไปในทั่วทุกภูมิภาค แต่ปัจจุบันพบอาศัยอยู่ในเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 59 แห่ง โดยกลุ่มป่าที่มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกระทิงประกอบไปด้วย
● กลุ่มป่าตะวันตก
● กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
● กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก
● กลุ่มป่าแก่งกระจาน
● กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และ
● กลุ่มป่าตะวันออก (Prayoon et al., 2021) 

ถึงแม้ว่าสถานภาพประชากรกระทิงมีแนวโน้มฟื้นตัวและเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ แต่ประชากรของกระทิงในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งมีจำนวนประชากรกระทิงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีประชากรกระทิงจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เคลื่อนย้ายมาอาศัยและเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ โดยมีประชากรกระทิงเคลื่อนย้ายมาอาศัยจำนวน 27 ตัวในปี 2543 และได้เพิ่มจำนวนประชากรเป็น 253 ตัวในปี 2559 (ทัตฑยา, 2544; ทิตยา และคณะ, 2559)

กระทิงมีพฤติกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายขอบป่าและออกหากินบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบเป็นประจำ ซึ่งมีความถี่ของการออกนอกพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรกระทิงและปัญหาความขาดแคลนแหล่งน้ำและแหล่งอาหารในพื้นที่ป่าธรรมชาติได้ก่อให้เกิดปัญหากระทิงออกนอกพื้นที่เพื่อไปกินพืชผลทางการเกษตร ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทิงและชุมชนที่อยู่โดยรอบ ดังนั้นข้อมูลสถานภาพประชากรของกระทิงที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงข้อมูลนิเวศวิทยาถิ่นอาศัย เช่น การเลือกใช้พื้นที่อาศัย ลักษณะพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม และข้อมูลพฤติกรรมของกระทิง เช่น กิจกรรมในรอบวัน เส้นทางการเคลื่อนที่ของกระทิง จึงมีความสำคัญเพื่อวางแผนการอนุรักษ์และการจัดการประชากรกระทิงและถิ่นอาศัยในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

■ พื้นที่ศึกษาแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่หลัก คือ
(1) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า
(2) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (บริเวณพื้นที่ติดต่อเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าภายในรัศมี 5 กิโลเมตร)
(3) พื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนโดยรอบแนวเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าภายในรัศมี 5 กิโลเมตร

■ วิธีการศึกษา
1. การสำรวจประชากรกระทิง
     1.1 สำรวจประชากรกระทิง ด้วยวิธีการนับโดยตรง (Direct counting method)
     1.2 กำหนดจุดสังเกตเพื่อนับประชากรกระทิงโดยตรง และติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกัน
     1.3 จำแนกโครงสร้างประชากรและชั้นอายุของกระทิง โดยใช้ลักษณะภายนอก (Morphology)

2. การศึกษานิเวศวิทยาถิ่นอาศัย
     2.1 สำรวจการกระจายและความชุกชุมของกระทิงด้วยวิธีการสำรวจแบบ Distance sampling method
     2.2 สำรวจกระทิงด้วยกล้องดักถ่ายภาพ (Camera trap)
     2.3 วิเคราะห์ลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่ (ใน/นอกพื้นที่อนุรักษ์) และพื้นที่อาศัยที่เหมาะสมของกระทิง (Habitat suitability) ในพื้นที่ศึกษาด้วยโปรแกรม MAXENT (Maximum entropy species distribution modeling)
…………………………………….

■ เอกสารอ้างอิง
อัมพรพิมล ประยูร, ณัฐวุฒิ วรรณา, ศิลา ศรีราชา, ระพีพร สาระพันธ์, อนุภาพ เรืองยศ และ ยุติธรรม มีกลิ่น. 2565. สถานภาพประชากรและนิเวศวิทยาถิ่นอาศัยของกระทิงในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่. หน้า 85-102. ใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี 2564. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่าสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.

Credit : ข้อมูล : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division ,
เพจเฟสบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ