น้ำหมักชีวภาพ…จากจุลินทรีย์ภายในบ้าน

น้ำหมักชีวภาพ คือการนำเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัตถุอินทรีย์และไม่เป็นพาหะก่อโรคมาทำการขยายจำนวนเชื้อด้วยการเลี้ยงในอาหารที่จุลินทรีย์ชนิดนั้นชอบ  แล้วจึงนำไปใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งสูตรน้ำหมักชีวภาพสูตรนี้ เป็นการประยุกต์จากการทำน้ำหมักชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์ EM โดยมีวัตถุดิบส่วนผสม ดังนี้
-กากน้ำตาล 1 ส่วน (ใช้น้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลทรายแดงแทนได้  แต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนเป็น 3 ส่วน)
-เชื้อจุลินทรีย์ 1 ส่วน
-น้ำเปล่า 20 ส่วน
-เศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้ง 1-6 ส่วน (จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
-ถังสำหรับบรรจุแบบมีฝาปิด (หากไม่มีฝาปิดให้ใช้ถุงขยะชนิดหนาปิดแทนก็ได้)
วิธีการทำ

1.เทกากน้ำตาลและน้ำบางส่วนผสมในถังสำหรับบรรจุแบบมีฝาปิดแล้วคนให้เข้ากันจนกากน้ำตาลละลาย หากใช้น้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลทรายแดงแทนกากน้ำตาล ต้องใช้ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ข้างต้น เพราะมีความเข้มข้นของน้ำตาลและสารอาหารน้อยกว่ากากน้ำตาล จึงต้องเพิ่มสัดส่วนให้จุลินทรีย์มีอาหารเพียงพอ
2.ผสมเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้กับน้ำที่ผสมกากน้ำตาลแล้ว  ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวสามารถหาจากในบ้านได้  โดยหาได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น
-หน่อกล้วยที่ตัดในช่วงเช้ามืด(เป็นจุลินทรีย์หน่อกล้วย)
-ดินจากบริเวณพืชในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เช่น แค โสน ถั่วพู มะขาม มะขามเทศ
-ดินจากกอไผ่
-ดินที่เกิดจากการย่อยสลายของเศษไม้ใบหญ้า
-จาวปลวก
-หน้าดินบริเวณที่โดนแสงสว่างหรือมีตะไคร่น้ำเกาะ
-ดินโคลนในบ่อหรือร่องสวนหรือร่องน้ำ
-ดินในบริเวณที่มีมูลหรือไขขี้ฟอดของไส้เดือนดิน
-น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือในบ่อหรืออ่างปลาที่มีสีเขียวหรือออกสีเหลือง มีความใส ไม่มีการเน่าเสียเป็นสีดำ
โดยหาจากแหล่งดังกล่าวหลาย ๆ แหล่งมารวมกัน  หากหาไม่ได้จริง ๆ สามารถใช้แป้งข้าวหมาก แป้งสาโท ข้าวหมาก ยาคูลท์ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต มูลวัวแห้งแทนก็ได้ แต่ต้องผสมเศษดินเศษฝุ่นหรือน้ำเหลือทิ้งในบริเวณบ้านเข้าไปด้วย จากนั้นคนให้เข้ากัน
3.เศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้ง(ถ้ามี)  มาผสมแล้วเติมน้ำที่เหลือให้หมด  คนให้เข้ากันแล้วปิดฝาพอหลวม ๆ หรือคุมปิดด้วยถุงขยะชนิดหนา เพื่อให้จุลินทรีย์พื้นบ้านที่ผสมลงไปมีอากาศไว้ทำกิจกรรมรวมถึงลดแก๊สที่เกิดขึ้น เก็บไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทดี 7 วัน หากมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาถังหมักเป็นบริเวณกว้าง(ถ้ามีกลิ่นเพียงตอนที่เปิดถังหรือตัวน้ำหมักมีกลิ่นถือว่าเป็นเรื่องปกติ) แสดงว่าใส่กากน้ำตาลไม่พอ ให้เติมเพิ่มอย่างน้อย 1/3 ส่วนที่กำหนดไว้  รอดูอีก 3 วัน ถ้ากลิ่นที่โชยยังไม่หายให้เติมกากน้ำตาลเข้าไปอีกรอดูอีก 3 วัน ทำแบบนี้จนกว่าจะไม่มีกลิ่นโชย
4.หมักเอาไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็สามารถนำไปใช้งานได้(หากมีการผสมเศษอาหารหรือวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้ง ต้องหมักให้ครบ 2 เดือน จึงจะใช้ได้)
การใช้งาน
-ใช้รดเป็นปุ๋ยพืช  ผสมน้ำอัตรา 1:1000 (1 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 10 ลิตร)
-ใช้รดกองปุ๋ยกองเศษไม้ใบหญ้า สามารถรดแบบไม่ผสมหรือผสมอัตรา 1:1 ได้เช่นกัน
ข้อดี
    
เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ในสภาพแวดล้อมเดียวกับพื้นที่ จึงมีความแข็งแรงอดทนต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ใช้วัสดุการหมักที่หาได้ง่าย จึงประหยัดต้นทุนในการทำและทำได้ง่ายอีกด้วย

ภาพและข้อมูลโดย ว่าที่ร้อยตรีเพชรายุทธ ทรงชุ่ม ผู้สื่อข่าวจังหวัดสมุทรสาครและเกษตรกร
ประยุกต์ข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอ่างทอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ