จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง คือ จุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารได้ ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติในการย่อยสลายแร่ธาตุในดินทำให้พืชดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้น บางกลุ่มช่วยในการการตรึงธาตุไนโตรเจนลงในดิน อาจช่วยกระตุ้นรากพืชให้แตกขยายได้รวดเร็วและควบคุมจุลินทรีย์ไม่ดีไม่ให้ขยายตัวจนเป็นปัญหา ซึ่งจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงนั้นมีหลายสี ทั้งแดง ม่วง น้ำตาล สามารถใช้งานร่วมกับปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพที่หมักด้วยกากน้ำตาลได้ดีอีกด้วย เพราะมีคุณสมบัติเป็นด่าง อันเป็นสภาวะตรงข้ามกับน้ำหมักด้วยกากน้ำตาลที่มีคุณสมบัติเป็นกรด
สำหรับการเพาะขยายจุลินทรีย์สังเคราะแสงนั้นทำได้ง่ายมาก ในที่นี้จะแนะนำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจาก 2 แหล่ง คือ ซื้อมากับหามาจากธรรมชาติ
-แบบซื้อมา สามารถหาซื้อได้จากผู้ค้าทั่วไป ส่วนมากมักจะมีสีม่วงเข้มหรือสีแดงเข้ม เป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดสรรมาแล้ว จึงสามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว
-แบบหามาจากธรรมชาติ คือ การนำจุลินทรีย์จากน้ำในธรรมชาติ น้ำบาดาล หน้าดิน โคลนเลน ดินบริเวณที่โดนแสงหรือบริเวณรากต้นไม้ มาทำการขยาย มีข้อดีคือทนต่อสภาพแวดล้อมที่ใช้งานได้ดี เพราะเป็นจุลินทรีย์ท้องถิ่น ส่วนมากจะมีสีแดงเรื่อหรือสีน้ำตาล
นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้มาใส่ในขวดขนาด 1.5-2 ลิตร จากนั้นตอกไข่ใส่ลงไป 1 ฟองพร้อมเปลือก เขย่าให้เข้ากันแล้วเติมน้ำจนเกือบเต็มปิดฝาหลวม ๆ ไปวางตากแดดทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ เชื้อก็จะเริ่มขยายและเจริญเติบโต สูตรนี้จะใช้แค่ไข่จะไม่ใส่น้ำปลาหรือกะปิหรือผงชูรสเพราะอาจจะเพิ่มเกลือให้ความด่างเพิ่มมากจนเป็นอันตรายต่อพืชได้ รวมถึงประหยัดต้นทุน เมื่อใช้งานให้ผสมอัตรา 1:1000 (1 ช้อนโต๊ะ : น้ำ 10 ลิตร) แล้วรดบริเวณที่ต้องการ หากใช้จุลินทรีย์ให้ใช้จนเกือบหมดขวดเหลือ 1/5 ส่วนของปริมาณเดิม สามารถเติมน้ำให้จุลินทรีย์ขยายได้อีก 2 ครั้ง จึงค่อยเติมไข่ดิบเพิ่มลงไป ทำให้ประหยัดต้นทุนและสามารถนำมาใช้งานได้เรื่อย ๆ
ภาพและข้อมูลโดย ว่าที่ร้อยตรีเพชรายุทธ ทรงชุ่ม ผู้สื่อข่าวจังหวัดสมุทรสาครและเกษตรกร