ต้นยางพาราถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2425 ซึ่งช่วงเวลานั้น ได้มีการขยายเมล็ดพันธุ์ต้นยางพาราเพื่อนำไปปลูกในประเทศต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย และใน ปี พ.ศ.2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) “บิดาแห่งยางพาราไทย” เป็นผู้ที่ได้นำต้นยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก
จากนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี จึงได้มีการส่งนักเรียนให้ไปศึกษาวิธีการปลูกยางพาราเพื่อนำความรู้กลับมาช่วยสอนชาวบ้านให้รู้ถึงวิธีการปลูกยางพารา ซึ่งนักเรียนที่ท่านได้ส่งไปศึกษาวิธีการปลูกยางพาราล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นท่านก็ได้สั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้นำพันธุ์ต้นยางพาราไปแจกจ่าย และส่งเสริมให้ราษฎรปลูกทั่วไป ซึ่งในช่วงเวลานั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคตื่นยาง” และชาวบ้านได้เรียกยางพารานี้ว่า “ยางเทศา” ต่อมาชาวบ้านได้มีการนำเข้ายางพารามาปลูกเป็นสวนยางพารามากขึ้น และได้มีการขยายพื้นที่การปลูกยางพาราไปในจังหวัดภาคใต้รวม 14 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วทั้งประเทศประมาณ 12 ล้านไร่ โดยกระจายกันอยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพาราพื้นที่ใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมของยางพาราในประเทศไทยได้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางพาราได้มากที่สุดในโลก
ซึ่งความคิดที่จะนำยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้เดินทางไปดูงานในประเทศมาเลเซีย ได้เห็นชาวมลายูปลูกยางพารากันได้ผลดี จึงเกิดความสนใจที่จะนำยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทยบ้าง แต่พันธุ์ยางพาราในสมัยนั้นได้มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของสวนยางพารา ทำให้ไม่สามารถนำพันธุ์ยางพารากลับมาได้ในการเดินทางครั้งนั้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 พระสถล สถานพิทักษ์ ได้เดินทางไปที่ประเทศอินโดเซีย จึงได้มีโอกาสนำต้นกล้ายางพารากลับมา โดยการเอาต้นกล้ายางพารามาหุ้มรากด้วยสำลีชุบน้ำ แล้วหุ้มทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่ง และจึงบรรจุลงลังไม้ฉำฉา ใส่เรือกลไฟซึ่งเป็นเรือส่วนตัวของพระสถลฯ และได้รีบเดินทางกลับประเทศไทยทันที
ยางที่ได้นำกลับมาครั้งนี้มีจำนวนถึง 4 ลัง ถึงด้วยกัน พระสถล สถานพิทักษ์ ได้นำมาปลูกไว้ที่บริเวณหน้าบ้านพัก ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานเพียงต้นเดียว อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง และ พระสถล สถานพิทักษ์ ได้มีการขยายเนื้อที่การปลูกยางออกไป จนมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 45 ไร่ นับได้ว่า พระสถล สถานพิทักษ์ คือผู้เป็นเจ้าของสวนยางคนแรกของประเทศไทย
ด้วยคุณูปการดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 10 เมษายน ของทุกปี เป็น”วันยางพาราแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ถึงแก่อนิจกรรมของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ริเริ่มแนวคิดนำยางพารามาเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานจัดงานน้อมรำลึกถึงพระคุณและเชิดชูเกียรติของบิดายางพาราทั้ง 2 ท่าน คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี และ หลวงราชไมตรี (ปูณ ปุณศรี) โดยการยางพาราแห่งประเทศเป็นแม่งานจัดพิธีประดิษฐานและบวงสรวงอนุสาวรีย์ของทั้ง 2 ท่านด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักงานเทศบาลเมืองกันตัง และการยางแห่งประเทศไทย
ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เรียบเรียงข้อมูลโดย ว่าที่ร.ต.เพชรายุทธ ทรงชุ่ม ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติรัฐจังหวัดสมุทรสาคร