ไม้กฤษณาคุณภาพเยี่ยมอาจมีราคาสูงถึง 4 ล้านบาทต่อกิโลกรัม ไม้กฤษณาจึงได้สมญานามว่า “ไม้ของพระเจ้า”
สำหรับตลาดไม้กฤษณา (Agarwood) ในประเทศไทยและทั่วโลกมีความหลากหลาย แต่ตลาดหลักๆ ที่มีความต้องการสูง ได้แก่ ตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยุโรปและจีน ในประเทศไทยเอง ตลาดไม้กฤษณายังมีการซื้อขายทั้งในรูปแบบของการส่งออกและภายในประเทศ โดยมีการซื้อขายทั้งในรูปแบบของแก่นไม้ น้ำมันหอม และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ


แต่ปัญหาที่พบในวงการไม้กฤษณาในประเทศไทย คือ ข้อมูลในหลักวิชาการขั้นตอนการปลูก การกระตุ้นสารหอมในไม้กฤษณา ไม่ได้ถูกรวบรวมเป็นทางการทำให้การได้ผลผลิตในแต่ละต้นและในแต่ละกลุ่มที่ทำต้องลองผิดลองถูกเอาเอง ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ค้นพบภายในกลุ่ม
ทำให้เกิดผลเสีย คือ การปลูกไม้กฤษณาได้รับความนิยมปลูกลดน้อยลง เนื่องจากปลูกแล้วทำขั้นตอนกระตุ้นสารหอมในไม้กฤษณาไม่ได้ผลเท่าที่ควร ประกอบกับมีกระบวนการรับซื้อไม้กฤษณาในราคาต่ำมาก ( 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท ) ทำให้ผู้ปลูกมองว่าไม่คุ้มค่าจึงทยอยเลิกปลูกไม้กฤษณาไป
แต่ขณะเดียวกันผู้รับซื้อไม้กฤษณาต่อจากชาวบ้านบางกลุ่มอาจมีความเชี่ยวชาญและสามารถมีรายได้เฉลี่ยต่อต้นถึง 400,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทเลยทีเดียว
คุณเฉลิมเกียรติ ลีวงศ์เจริญ เจ้าของไร่นศิริน ที่ปลูกไม้กฤษณา กว่า 1,000 ต้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ได้ศึกษาเก็บข้อมูลทดสอบทฤษฎีต่างๆรวมถึงวิเคราะห์ในเชิงวิชาการจากการที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง จึงสามารถแยกแยะได้ว่าเหตุใดทำไมการกระตุ้นสารหอมในไม้กฤษณาถึงได้ผลไม่เท่าที่ควร จนค้นพบตัวแปร
จึงริเริ่มเปิดไร่เพื่อทำการพิสูจน์ในไม้กฤษณาของตน ซึ่งปัจจุบันขนาดของต้นมีความสูงเฉลี่ยกว่า 30 เมตร และเส้นรอบวงมีขนาดกว่า 150 เซนติเมตร โดยเก็บข้อมูลทดสอบบันทึกทุกขั้นตอน เพื่อต้องการเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ให้แก้ผู้ที่สนใจเป็นวิทยาทานในลำดับต่อไป
และวัตถุประสงค์สูงสุด คือ ยกระดับรายได้ของผู้ปลูกไม้กฤษณาในราคาขายต่อที่เหมาะสมไม่ถูกบิดเบือนกลไกที่แท้จริง ซึ่งถ้าทำสำเร็จการนิยมปลูกไม้กฤษณาในประเทศไทยจะเป็นแหล่งสำคัญรองรับตลาดโลกแบบยั่งยืนอย่างแน่นอน