หากมีใครถามถึงสุดยอดพระเกจิอาจารย์ดัง แห่งผืนแผ่นดินล้านนา เชื่อว่าผู้คนทั้งหลายจะต้องนึกถึง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ สุดยอดพระเกจิอาจารย์แห่งล้านนา ผู้ได้รับสมญานามว่า “พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม” ตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ มีชีวิตอยู่นั้น ท่านไม่เคยสนใจเรื่องการสร้างพระเครื่องแปลกๆ พิสดาร ตลอดจนเครื่องราง ของขลังเลย มีแต่พระและฆราวาสลูกศิษย์ลูกหาจัดสร้างขึ้น แล้วขนไปให้ท่านปลุกเสกบ้าง ซึ่งท่านก็มีเมตตาไม่ขัดข้อง หลวงปู่แหวน ท่านกล่าวเอาไว้ว่า “ชาวบ้านทั้งหลายยังติดข้องอยู่ในโลกธรรม โลกียสมบัติ ยึดถือตัวตน บุคคลเราเขา ยังเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีโอกาสจะเป็นนักบวชกระทำจิตตัดกิเลส หาทางหลุดพ้น ได้สะดวก จำเป็นอยู่เอง ที่ชาวบ้านจะต้องยึดถือพระเครื่องเป็นที่พึ่ง อย่างน้อยพระเครื่องก็เป็นจุดให้ชาวบ้านเข้าถึงความดี ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ที่ชาวบ้านจะมีพระเครื่องไว้ติดตัว”
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2430 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านนาโป่ง ตำบลหนองใน (ปัจจุบันเป็นตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย ครอบครัวของท่านมีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก โดยเป็นบุตรของนายใสกับนางแก้ว รามศิริ โดยมีน้องสาวร่วมบิดา- มารดาอีกหนึ่งคนคือ นางเบ็ง ราชอักษร และบิดามารดาของท่านได้ ตั้งชื่อว่า ญาณ ซึ่งแปลว่า ปรีชา กำหนดรู้
พอท่านอายุ ได้ประมาณ 5 ขวบเศษ โยมมารดาของท่านก็ล้มป่วย อาการของทรุดหนัก ในที่สุดท่านรู้ตัวว่าคงจะไม่รอดชีวิตไปได้ ท่านจึงได้เรียกหลวงปู่แหวน เข้ามากล่าวความฝากฝังเอาไว้ว่า ” แม่จะยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ เมื่อลูกบวชแล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมา มีลูกมีเมียนะ ” หลวงปู่แหวน ได้รับคำ โยมมารดาจึงได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ
จากนั้น วันเวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2439 ท่านมีอายุได้ 9 ขวบ คุณยายของท่านได้เรียกท่านพร้อมกับ หลานชายอีกคนหนึ่งที่เป็นญาติสนิทรุ่นราวคราวเดียวกัน และได้พาเด็กชายทั้งสองเข้าถวายตัวต่อพระอุปัชฌาย์ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า บวชพร้อมเข้าพรรษาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์ชัย จ.เลย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นเด็กชาย ญาณ เป็นสามเณร แหวน นับแต่นั้นมา
ตลอดพรรษาที่ได้บรรพชา เป็นสามเณรนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้แต่ทำวัตร สวดมนต์ต์บ้างตามโอกาส เท่าที่พระภิกษุและ สามเณร ภายในวัดจะร่วมกันทำสังฆกรรม นอกจากนั้นก็จะใช้เวลา ไปในทางเล่นซุกซนตามประสาเด็ก ในที่สุดพระอาจารย์อ้วน ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน มองเห็นว่าหากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ จะทำให้สามเณรน้อยไม่มีความรู้ จึงพาไปฝากตัวถวาย เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ( ที่จริงน่าจะเป็นพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มากกว่า เพราะหลวงปู่แหวนเกิด 16 มกราคม 2430 ส่วนพระอาจารย์สิงห์ เกิด 27 มกราคม 2432 พระอาจารย์สิงห์ อ่อนกว่าหลวงปู่แหวน 2 ปี ) ณ วัดบ้านสร้างถ่อ อำเภอเกษมสีมา จังหวัดอุบลราชธานี ( ปัจจุบันอำเภอเกษมสีมา คือ ตำบลเกษมสีมา อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี )
การออกจาริกแสวงบุญโดยสังเขป
ปี พ.ศ. 2464 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาธรรมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
ปี พ.ศ. 2478 ได้เข้าพบ ท่านเจ้า คุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากมหานิกายเป็น ธรรมยุติ และได้รับฉายาว่า สุจิณโณ จากนั้นได้ออกจาริกแสวงบุญต่อ ขณะที่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นฯ ที่ดงมะไฟ บ้านค้อ จังหวัดอุบลราชธานี มีศิษย์พระอาจารย์มั่นฯ ที่มีอัธยาศัย ที่ตรงกัน 2 ท่านคือ พระขาว อนาลโย และ พระตื้อ อจลธัมโม เช่นเดียวกับคราวที่ จากท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ก็ได้ พระขาว จาริกแสวงธรรมเป็นเพื่อนจนถึงเมืองหลวงพระบาง
ปี พ.ศ. 2489 หลวงปู่แหวน จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด โดยมีพระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากดอยแม่ปั๋ง คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ เมื่อครบ 7 วัน ต้องกลับไปดอยแม่ปั๋ง เพราะอยู่ระหว่างพรรษา จนกระทั่งเดือนเมษายนในปีต่อมา อาการอาพาธของหลวงปู่จึงดีขึ้น แต่ก็ยังไม่หายสนิทยังเดินไปไหนไกลๆ ไม่ได้นับแต่นั้นมาพระอาจารย์หนู จึงได้พยายามอยู่ดูแลหลวงปู่แหวน อย่างใกล้ชิด ต่อมาพระอาจารย์หนู ได้ดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่แหวน มีอายุมากแล้ว ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วยเพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นเพียงความคิดของพระอาจารย์หนู เท่านั้นเพราะในเวลาดังกล่าว ดอยแม่ปั๋ง ยังไม่มีอะไรพร้อมแม้แต่กุฏิก็ยังไม่มี
ปี พ.ศ. 2505 ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปี พระอาจารย์หนู ได้ขอโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาจำพรรษาที่วัดดอยแม่ปั๋ง เป็นครั้งแรกเมื่อหลวงปู่แหวน ได้มาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ท่านได้มีข้อตกลงกับพระอาจารย์หนู ว่าหน้าที่ต่างๆ และกิจทุกอย่างที่มีขึ้นในวัด ให้ตกเป็นภาระของพระอาจารย์หนูแต่เพียงผู้เดียว ส่วนท่านจะอยู่ในฐานะพระผู้เฒ่าผู้ปฏิบัติธรรม จะไม่มีภาระใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นหลวงปู่แหวนจะไม่รับนิมนต์โดยเด็ดขาด แม้ที่สุดถึงจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็ตาม ท่านไม่ยอมนอนรักษาที่โรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ ตามอริยโคตรอริยวงศ์ ซึ่งบูรพาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาแล้วในกาลก่อน
นับตั้งแต่หลวงปู่แหวนได้ขึ้นไปทางเหนือ ท่านไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นอีกเลย หลวงปู่แหวนได้มรณภาพลงที่วัดดอยแม่ปั๋งแห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2528 สิริอายุ 98 ปี
เล่าขานกันว่า….. หลวงปู่แหวนท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มากด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นานัปการ และต่างร่ำลือในความขลังวัตถุมงคลจากการปลุกเสกของท่าน ว่ามีพุทธคุณเป็นเลิศในเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย ปราศจากภยันตรายต่างๆ
นรสิงห์ พันตา