ชาวพุทธในประเทศไทยเรานั้นมีคดิความเชื่อในการสักการะพระพุทธรูปในบ้านเรือนของตนเองในฐานะสิ่งศักดิ์คุ้มครองบ้านเรือนบ้าง ในฐานะอุเทสิกเจดีย์เพื่ออุทิศพระพุทธเจ้าบ้าง ในฐานะพุทธานุสสติให้เกิดสมาธิกรรมฐานบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะไหนก็เป็นประเพณีที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้ขั้นตอนหรือวิธีการในการสักการะบูชาสูญหายหรือผิดเพี้ยนไปบ้าง จึงทำการรวบรวมจากเอกสาร คำบอกเล่าของผู้รู้ต่าง ๆ เป็นเคล็ดลับในการบูชาเพื่อให้ผลความมงคลสูงสุด ดังนี้
1.จัดวางพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ถูกต้องตามลำดับศักดิ์ตามธรรมเนียมนิยม
โดยปกติแล้วผู้คนในสังคมเรามักมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวรูปอื่นนอกจากพระพุทธรูปอยู่แล้ว และส่วนมากก็มักนำขึ้นหิ้งทั้งหมดเพราะคิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน จึงมักจะประสบปัญหาแปลก ๆในบ้านหรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน เพราะวางพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผิดลำดับศักดิ์ ซึ่งอาจทำให้ดวงวิญญาณหรือพลังงานที่สถิตในพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์โกรธเคืองได้ เพราะมีคติความเชื่อว่าพระพุทธรูปย่อมมีเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ ดังนั้นในหิ้งพระบูชาจึงควรจัดลำดังการวางจากบนสุดล่าง ดังนี้
-พระพุทธรูป
-รูปปั้นรูปหล่อหรือรูปเคารพพระสงฆ์หรือเกจิ
-เทวรูปหรือรูปเคารพเทพอื่นจากต่างศาสนา เช่น เทพฮินดู เทพจีน พระคริสต์ไม้กางเขน (ถ้ามีพื้นที่จำกัด อาจตั้งรวมกับรูปปั้นรูปหล่อหรือรูปเคารพพระสงฆ์หรือเกจิก็ได้)
-รูปปั้นรูปหล่อของพระมหากษัตริย์
-รูปปั้นเทวดา นางกวัก กุมารทอง ผ้ายันต์เครื่องรางของขลังสายขาว เช่น เชือกประกำช้าง คชกุศ ข้องมงคล แคนมงคล ฮู้เทพ ฮู้เซียน ผ้ายันต์ของหมอธรรมพื้นบ้าน
-เครื่องรางของขลังสายล่าง เช่น ผ้ายันต์ม้าเสพนาง งั่ง เป๋อ เหรียญปากผี น้ำมันพราย
ทั้งนี้สามารถตั้งหิ้งแยกกันได้เช่นกัน โดยแยกเป็นกลุ่มตามลำดับศักดิ์ที่กำหนดไว้ข้างต้น และหากเป็นรูปเคารพบรรพบุรุษนั้นควรตั้งแยกต่างหาก ไม่ควรตั้งรวมกับหิ้งพระ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรจัดตั้งไว้ที่ชั้นเดียวกับรูปปั้นเทวดา นางกวัก กุมารทอง ผ้ายันต์เครื่องรางของขลังสายขาว
สุดท้ายหากเครื่องรางนั้นมีลักษณะสองอย่างรวมกัน เช่น เหรียญพระพุทธรูปแต่ด้านหลังมีพระเกจิหรือเทพอยู่ด้วย ให้ตั้งไว้บนชั้นของสิ่งศักดิ์ที่สูงที่สุดของเครื่องรางนั้น ในที่นี้พระพุทธรูปสูงกว่าพระเกจิหรือเทพ ควรตั้งบนชั้นพระพุทธรูป
2.การเปลี่ยนกระถางธูปและการทิ้งก้านธูปขี้เถ้าธูป
เมื่อเราไหว้พระสวดมนต์ย่อมจุดธูปจุดเทียนบูชาพระ ดังนั้นจึงต้องใช้กระถางธูปและเกิดก้านธูปขี้เถ้าธูปเป็นจำนวนมาก หากต้องการใช้กระถางธูป เริ่มแรกนั้นให้หาทรายที่สะอาดไม่มีสิ่งสกปรกหรือมูลสัตว์เจือปนมาใส่กระถางธูป หากหาไม่ได้ให้ใช้เมล็ดข้าวหรือธัญพืชใส่กระถางธูปแทน หากมีกระถางธูปเก่าในบ้านหรือเพื่อเปลี่ยนกระถางธูปให้นำขี้เถ้าจากกระถางธูปนั้นมาผสมในทรายหรือข้าวในกระถางธูปใหม่รวมถึงนำก้านธูปจากกระถางเก่า 3-5 ก้านมาปักด้วย เป็นไปตามคติการต่อกระถางธูปเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่าในบ้านรับรู้ถึงกระถางธูปใหม่ที่จะใช้ไหว้ ส่วนการทิ้งก้านธูปหรือขี้เถ้าธูปนั้น ให้ฝังดินในบริเวณที่ไม่มีคนเหยียบย่ำหรือจำเริญลอยน้ำทิ้งโดยเหลือก้านธูปไว้ในกระถาง 3-5ก้าน เพื่อไม่ให้ผู้คนมาเหยียบเพราะมีคดิว่าสิ่งที่ให้ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน จึงไม่ควรเหยียบย่ำ และเป็นการต่อกระถาง
3.การทำความสะอาดพระพุทธรูปหรือเทวรูป
เมื่อเรากราบไหว้บูชาเป็นเวลานาน ย่อมมีฝุ่นหยักไย่เกาะสกปรกหรือถึงช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ย่อมต้องทำความสะอาด การจะทำความสะอาดพระพุทธรูปหรือเทวรูปนั้นให้ทำความสะอาดโดยระมัดระวังไม่ถูตรงบริเวณที่ถูกปิดทอง เจิมแป้ง ป้ายสี ป้ายเลือด รอยยันต์หรือสัญลักษณ์อื่น หากจำเป็นต้องทำความสะอาดควรเช็ดเบา ๆแค่พอสะอาด เพราะบริเวณนั้นคือบริเวณที่”เบิกเนตร”พระพุทธรูปหรือเทวรูป ตามคติที่ว่าพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่จะมีความศักดิ์สิทธิ์ได้นั้นจำเป็นต้องผ่านการพุทธาภิเษก เทวาภิเษกหรือเบิกเนตรเสียก่อน ซึ่งในหลาย ๆคติความเชื่อย่อมมีการทำสัญลักษณ์เอาไว้ การไปถูกจนลบเลือนอาจกระทบการคงอยู่ของพลังงานในพระพุทธรูปหรือเทวรูปได้
>
(โปรดอ่านต่อครั้งหน้า)
บทความโดย : ว่าที่ร้อยตรี เพชรายุทธ ทรงชุ่ม
ขอบคุณภาพจาก : เว็บไซต์กะปุก.คอม