พระพิมพ์นาคปรก กรุวัดบันไดหิน เนื้อชินเงิน พิมพ์ฐานสูง จ.ลพบุรี

วัดบันไดหิน ตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟลพบุรี ถนนรอบวัดพระธาตุ อำเภอ เมืองลพบุรี จังหวัด ลพบุรี สร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราช สิ่งก่อสร้างในวัดมีวิหาร ซึ่งเหลือแต่ผนังเพียงสองด้าน มีประตูหน้าต่างวงโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมที่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว มีการขุดพบกรุพระศิลปะ ลพบุรี เป็นพระเครื่องเนื้อชินเงิน โดยมากเป็นพระหลวงพ่อจุก ฐานเตี้ย – พระนาคปรก, พระแผงตรีกาย สันนิษฐานว่าราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2475

หากกล่าวถึงสุดยอดพระนาคปรกแห่งเมืองลพบุรี ซึ่งบรรดาผู้นิยมสะสมพระเครื่องให้ความสำคัญเป็นเบอร์ต้นๆ 3 อันดับ ทั้งความหายาก พุทธศิลป์ และพุทธคุณ ต้องยกให้ พระนาคปรก กรุวัดปืน ,พระนาคปรกกรุ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ,พระนาคปรก กรุวัดบันไดหิน ที่มีพุทธลักษณะองค์พระค่อนข้างเพรียวชะลูดประทับนั่งบนบัลลังก์นาคฐานสูง ซึ่งหากนำพระนาคปรกทั้ง 3 กรุมาวางเปรียบเทียบกันจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนเลยทีเดียว แม้พุทธศิลป์จะด้อยกว่าพระนาคปรกของสองกรุแรก

พระนาคปรกกรุวัดบันไดหิน ขุดพบที่บริเวณวิหารหรืออุโบสถของวัดบันไดหิน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีรถไฟลพบุรี ทำให้สันนิษฐานกันว่า แต่เดิมวัดบันไดหินน่าจะ ต้องอยู่ในปริมณฑลเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง พระพิมพ์ที่พบมีมายมากหลายพิมพ์ทรง ทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์หลวงพ่อจุก พระตรีกาย แต่ที่พบมากได้แก่ พระนาคปรก ซึ่งภายในกรุนี้ยังมีพระเนื้อดินพิมพ์ทรงแบบเดียวกันกับพระนาคปรกกรุวัดเขาสะพรึง (เขาสรรพลึงก์ ลพบุรี) ปะปนอยู่ด้วยและรวมถึงพิมพ์พระนาคปรกอีกหลายพิมพ์โดยเฉพาะพระนาคปรกเนื้อชิน ที่มีหลากหลายเนื้อหา หลายลักษณะทั้งชินเงิน ชินแก่ตะกั่ว ส่วนด้านหลังมีทั้งลักษณะเป็นหลังลายผ้า และแบบเป็นคลื่นสูงต่ำ ที่เรียกกันว่า “ปุยเมฆ” ก็มี ในด้านพุทธคุณของพระนาคปรกของกรุวัดบันไดหินนี้ เป็นที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ เด่นดังทั้งมหาอำนาจ คงกระพัน มหาอุตม์ และแฝงด้วยเมตตาแคล้วคลาดอีกด้วย

นรสิงห์ พันตา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error: ห้าม Copy เนื้อหาและรูปภาพ By มติรัฐ